เกาะติดทิศทางเศรษฐกิจ CLM ในปี 2018

มุมมองจากกองทุนบัวหลวงต่อทิศทางเศรษฐกิจ CLM ในปี 2018

กัมพูชา: ในปี 2018 เศรษฐกิจกัมพูชาจะยังคงเติบโตได้ดีที่ 6.9% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2017 ที่คาดว่าจะเติบโต 6.8% อันเนื่องมาจากโครงสร้างการส่งออกที่หลากหลายมากขึ้น และเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งขึ้น

อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความผันผวนก่อนการเลือกตั้งกัมพูชาวันที่ 22 ก.ค. นับเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจในปี 2018 นักลงทุนต่างคาดหมายว่าจะเห็น “New Cambodia” ทั้งด้านการค้าการลงทุนหลังการเลือกตั้ง โดยรัฐบาลฮุน เซนได้ให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีเสรีมากขึ้น

สปป.ลาว: เศรษฐกิจสปป.ลาวในปี 2018 น่าจะขยายตัวได้ที่ 7% ซึ่งตรงกับแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งนี้ รัฐบาลประมาณการว่า ภาคเกษตรกรรมจะเติบโต 2.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเป้าหมายของปี 2017 ที่ 2.78% ส่วนภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการจะเติบโต 9.1% และ 6.4% ตามลำดับ

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2018 เรามองว่า น่าจะขาดดุลมากขึ้น จากการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง และน้ำมัน เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างทางรถไฟ และเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอีก 7 แห่ง อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากราคาน้ำมัน และราคาอาหาร ขณะที่ราคาสินแร่หลายตัวในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำนับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสปป.ลาวในปี 2018

เมียนมา: เศรษฐกิจเมียนในปี 2018 มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องจากปี 2017 เนื่องจากการเติบโตในภาคการเกษตรที่ฟื้นตัวแล้ว แผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ และการลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในปีงบประมาณ 2017/18 การลงทุนน่าจะเกิน 6,000 ล้านดอลลาร์ฯ เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาได้ออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่มความชัดเจนในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสาขาลงทุนที่สงวนไว้สำหรับชาวเมียนมา และสิทธิพิเศษด้านภาษีต่างๆ รวมทั้งสาขาที่นักลงทุนต่างชาติสามารถร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นได้

อย่างไรก็ดี ภาคการธนาคารถือเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจเมียนมา ขณะที่ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ยังเป็นวิกฤตในรัฐยะไข่ก็ส่งผลกระทบต่อ Sentiment การลงทุน และการท่องเที่ยวเมียนมา บวกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางฝั่งรัฐบาลยังมีข้อจำกัด เนื่องด้วยรัฐบาลกำลังเผชิญกับการขาดดุลทางการคลัง และดุลบัญชีเดินสะพัด