อายุเท่าไหร่ถึงต้องเริ่มใส่ใจวางแผนเกษียณ

อายุเท่าไหร่ถึงต้องเริ่มใส่ใจวางแผนเกษียณ

อายุเท่าไหร่ถึงต้องเริ่มใส่ใจวางแผนเกษียณ

โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

เรื่องเกษียณ เป็นเรื่องที่ดูไกลตัวมากสำหรับคนที่เพิ่งออกจากรั้วมหาลัย และก้าวเข้าสู่รั้วมนุษย์เงินเดือน ยิ่งตอนได้รับเงินเดือนใหม่ๆ น้อยคนนักที่จะคิดถึงการลงทุนหรือการเก็บออมสำหรับเกษียณ มีแต่จะเตรียมซื้อรถ ซื้อทัวร์ กว่าจะฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าที่ผ่านมาใช้จ่ายเงินหมดไปกับสิ่งต่างๆ จนเลขในบัญชีแทบไม่เหลือ จะเหลืออยู่ก็คงเป็นเงินที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมเท่านั้น

ใครโชคดีหน่อยก็มีเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่บ้าง น้อยคนนักที่จะสะสมเงินสำหรับการเกษียณอย่างจริงจัง พอตั้งสติได้จะเริ่มเก็บตังค์เข้าหน่อย สุขภาพก็เริ่มแย่ ต้องใช้เงินรักษาพยาบาลอีก สุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องยึดหลักธรรมทางศาสนา อยู่แบบประมาณตน เหลือแค่ไหนก็แค่นั้น คงพอประทังชีวิตหลังเกษียณไปได้

เมื่อก่อนไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่มีใครวางแผนเกษียณ แต่เดี๋ยวนี้บอกได้เลยว่าถ้าไม่วางแผนไว้ก่อนความลำบากจะมาเยือนอย่างแน่นอน เพราะคนไทยเป็นผู้โชคดีที่แก่ก่อนรวย แถมคนส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาลูกหลาน สำหรับคนไทยในยุคใหม่ก็อยู่เป็นโสดกันเยอะ ดังนั้น หากไม่มีลูกหลานที่จะพึ่งพาได้ และไม่อยากลำบาก คงต้องพึ่งตัวเองแล้ว

ลองหันกลับมาคิดดูว่า ตอนนี้อายุเท่าไหร่ (ส่วนใหญ่จะเริ่มฉุกคิดกันได้ก็อยู่ที่หลักสี่ หรือไม่ก็ใก้ลแซยิดซะแล้ว) ดังนั้น ถ้าอยู่แถวหลักสี่ช่วงที่รถไม่ติดมาก ลองสำรวจดูว่าบริษัทที่เราทำงานอยู่ให้เราทำถึงอายุเท่าไหร่ ถ้าแค่ 55 ปี ก็ต้องเร่งสปีดให้แรง แต่ถ้าบริษัทให้ทำงานถึงแซยิด (60 ปี) ก็ยังพอมีเวลาอยู่บ้าง อย่างน้อยๆ ก็อีก 10 ปีกว่าๆ แล้วแต่ว่าอยู่หลักสี่ที่เท่าไหร่

จากนั้น สำรวจดูว่ายังมีหนี้สินอะไรอีกบ้าง ปิดภาระหนี้ที่มีทั้งหมดได้ไหม เอาแบบลดต้นลดดอก ถ้าต้นไม่ลด ดอกไม่ลง ก็ไม่ต้องปิด ผ่อนไปเรื่อยๆ แล้วเอาเงินที่จะปิดมาลงทุน อาจจะแบ่งเงินมากหน่อยมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น 70% ตราสารหนี้ 30% เพราะหากลงทุนแต่ในตราสารหนี้หมด โอกาสที่เงินจะเติบโตได้มากค่อนข้างยาก

หากไม่ถนัดซื้อหุ้นรายตัว เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้ลงทุนก็ลองมาลงทุนผ่านกองทุนรวม แล้วเลือกนโยบายที่ถูกจริตกับเรา แต่ถ้าหากไม่รู้จะเลือกลงทุนยังไง การเลือกในกองทุนผสมก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

นอกจากนี้เพื่อไม่ให้ความมั่งคั่งต้องลดลง อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองด้วย เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มนับถอยหลัง หากยังรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่ได้ ก็จะประหยัดค่ารักษาพยาบาลในอนาคตไปได้มากเลยทีเดียว ที่สำคัญอย่าลืมกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำรองเผื่อฉุกเฉิน

สำหรับใครที่อยู่แถวห้าแยก ควรจะต้องจัดการหนี้สินที่มีให้หมดได้แล้ว และแบ่งเงินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของรายได้มาลงทุน หากที่ผ่านมายังไม่เคยจริงจังกับการวางแผนเกษียณเลย เพราะไม่อย่างนั้น เงินที่มีอาจไม่เพียงพอ และการแบ่งเงินครึ่งหนึ่งของรายได้กับช่วงอายุการทำงานที่เหลืออีกไม่มากนั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนในตราสารหนี้มากสักหน่อย แม้ว่าอยากจะลงทุนในหุ้นเป็นอย่างมาก เพราะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้เสมอไป ไม่อย่างนั้น ใครๆ ก็คงนำเงินมาลงทุนในหุ้นกันหมด และรวยกันทั่วหน้าทุกคนแล้ว

ช่วงอายุตรงนี้ หากลงทุนในกองทุนรวมก็ต้องเลือกให้เหมาะสม เน้นลงทุนในตราสารหนี้สัก 60-70% ของเงินลงทุน ส่วนที่เหลือจึงเลือกลงทุนในกองทุนหุ้น หากยังไม่แน่ใจ แนะนำให้ทดลองโดยการนำเงินลงทุนก้อนเล็กๆ ลองทุนก่อนแล้วค่อยทยอยลงทุน ให้ลงทุนแล้วยังนอนหลับสบาย ไร้กังวลก็เป็นอันใช้ได้ แต่ถ้าหากลงทุนแล้วเครียด นอนไม่หลับก็แสดงว่าต้องสับเปลี่ยนการลงทุนใหม่เพื่อให้เข้ากับตัวเอง

การวางแผนเกษียณ ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งมีคุณภาพชีวิตหลังเกษียณได้เร็วได้ดี แถมด้วยการมีอิสรภาพทางการเงินได้ก่อนเกษียณเสียอีก ที่สำคัญ ต้องมีวินัยในการลงทุน ดังนั้น หากสามารถลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้สูงสุดตามสิทธิ และเพิ่มเติมอีกสักหน่อย รวมๆ แล้วให้ได้ 20% ของรายได้ และเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง โดยที่มีระยะเวลาในการลงทุนยาวนาน จะช่วยให้แผนเกษียณสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจ

แต่ถ้าหากใครที่รับความเสี่ยงไม่ได้ หวังออมเงินกับการฝากเงิน หรือลงทุนแต่ในกองทุนรวมตราสารหนี้เท่านั้น บอกได้เลยว่า โอกาสที่เงินจะเติบโตแซงเงินเฟ้อนั้นยากมาก “ยิ่งรับความเสี่ยงไม่ได้ ยิ่งมีความเสี่ยง”

ที่สำคัญ เมื่อรู้แล้ว ต้องลงมือ อย่าได้แต่รู้อะไรไม่สู้รู้งี้ ลงมือก่อน ลงทุนก่อน อย่างสม่ำเสมอ แล้วจะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้อย่างที่ตั้งใจ