การส่งออกไทยเดือนก.ย.หดตัวต่อเนื่อง และค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าต่อเนื่อง

การส่งออกไทยเดือนก.ย.หดตัวต่อเนื่อง และค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าต่อเนื่อง

BF Economic Research

การส่งออกเดือนก.ย.อยู่ที่ 20,481 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว -1.39% YoY (vs prev -4.0% YoY) ทั้งนี้หากไม่รวมทองคำ การส่งออกหดตัว -2.5%  YoY (จากเดือนก่อนที่หดตัว-9.6%YoY)

ด้านการนำเข้าอยู่ที่ 19,862 ล้านดอลลาร์ฯหรือ หดตัวมากกว่าการส่งออกที่ -4.24% (vs prev -14.6% YoY)  ทำให้ดุลการค้าเกินดุลต่อเนื่องที่ 1,275 ล้านดอลลาร์ฯ (vs prev 2,052.6 ล้านดอลลาร์ฯ)

ในรายอุตสาหกรรม การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว -3.1% YoY  ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม Flat ที่ 0.2% YoY  โดยบางรายสินค้าได้รับอานิสงส์จากฐานต่ำปีก่อนผนวกกับการส่งออกทองคำ เป็นผลให้ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ไม่แย่เท่าเดือนก่อน

สำหรับในช่วง 9 เดือนของปี 62 (ม.ค.-ก.ย.) การส่งออกมีมูลค่ารวม 186,571.9 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว -2.11% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวม 179,190.5 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว -3.68% ทำให้ดุลการค้าบวกที่ 7,381.4 ล้านดอลลาร์ฯ YTD สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 3,647 ล้านดอลลาร์ฯ ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับค่าเงินบาททั้งที่การส่งออกไม่ดี

ในรายสินค้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ -3.1% YoY  สินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่

  • น้ำตาลทราย ขยายตัว 36.3% (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย ลาว และไต้หวัน)
  • เครื่องดื่ม ขยายตัว 14.6% (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์)
  • ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 12.1% (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ จีน และมาเลเซีย)
  • ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 7.7% (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย)

สินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่

  • ข้าว หดตัว -32.2% (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ เบนิน โมซัมบิก แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ และแคเมอรูน)
  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว -35.2% YoY (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซียและไต้หวัน แต่ยังขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น และสหรัฐฯ)
  • ยางพารา หดตัว -15.4% YoY (หดตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้และอินเดีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดมาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ)
  • กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัวร้อยละ -10.5% YoY (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย แต่ยังขยายตัวในตลาดจีน และแคนาดา)

รวม 3ไตรมาส สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ -2.2%YoY

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมFlat ที่ 0.2% YoY

สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่

  • ทองคำ ขยายตัว 110.6% (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน)
  • รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 31.5% YoY (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น กัมพูชา และเวียดนาม) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนขยายตัวที่ 15.9% YoY (ขยายตัวระดับสูงในตลาดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอาร์เจนตินา)
  • เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวเกือบทุกตลาดที่ 15.1% YoY (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย)
  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ 5.4%  (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย และเม็กซิโก)

สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่

  • สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาดที่ -16.2%  (หดตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดจีน และมาเลเซีย)
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว -12.3% YoY (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และจีน แต่ยังขยายตัวในตลาดเม็กซิโกและสิงคโปร์)

รวม 3ไตรมาส มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ -1.3%

ในรายคู่ค้า

  • ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 7.8% เป็นการขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่องติดต่อกัน โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯโทรทัศน์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่ 3ไตรมาส ปี 2019 ขยายตัว 14.1%
  • ตลาดญี่ปุ่น กลับมาขยายตัว 2.4% สินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ โทรทัศน์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และไก่แปรรูป เป็นต้น ขณะที่ 3ไตรมาส ปี 2019 หดตัว -0.4%
  • ตลาดสหภาพยุโรป(15) หดตัว -8.2% สินค้าที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และ ส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องยนต์สันดาปฯและแผงวงจรไฟฟ้า ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ไก่แปรรูป และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่ 3ไตรมาส ปี 2019 หดตัว -6.6%
  • ตลาดจีน ขยายตัว 6.1%  สินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลฯ และน้ำตาลทราย เป็นต้น ขณะที่ 3ไตรมาส ปี 2019 หดตัว -5.6%
  • ตลาดอาเซียน-5 Flatที่ 0.6% สินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและ เครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องวิดีโอและส่วนประกอบฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ และ เครื่องปรับอากาศฯ ขณะที่ 3ไตรมาส ปี 2019 หดตัว -9.6%
  • ตลาดเอเชียใต้หดตัว -12.5% YoY สินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา เคมีภัณฑ์และ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2019 หดตัว -5.1%

ความเสี่ยง อุปทานส่วนเกินของสินค้าเกษตรในตลาดโลก และการแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกสินค้าเกษตร

กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าทั้งปีการส่งออกโตใกล้ 0% โดยให้แต่ละเดือนที่เหลืออยู่ส่งออกให้ได้เดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์ฯ