ซื้อกองทุนไหนดี…ที่นี่มีคำตอบ
โดย…ศรศักดิ์ สร้อยแสงจันทร์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงิน
BF Knowledge Center
คำถามที่พบอยู่เป็นประจำจากนักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมคือ “ซื้อกองทุนไหนดี” โดยนักลงทุนส่วนใหญ่คาดหวังคำตอบที่ สั้นๆ ชัดเจน และตรงไปตรงมาจากผู้แนะนำการลงทุน เช่น กองทุน ABC ซิครับดี พร้อมอธิบายความดีงามของกองทุน 2-3 ประโยค และแสดงผลการดำเนินงานที่ดีในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปี ที่ผ่านมา หรือมีผลตอบแทนสูงในระดับต้นๆ จากการจัดอันดับของกูรูต่างๆ จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจง่ายขึ้นในการเข้าลงทุนในกองทุนที่ได้รับการแนะนำ ซึ่งคงไม่ต่างกันกับนักลงทุนที่มักถามเจ้าหน้าที่การตลาดของโบรกเกอร์ว่า “ซื้อหุ้นตัวไหนดี” โดยต้องการคำตอบเพียงชื่อหุ้น 2-3 ตัว พร้อมเหตุผลประกอบสั้นๆ 2-3 ประโยค และราคาเป้าหมายที่จะไปถึง
แม้ว่าจะยังมีนักลงทุนบางส่วนที่จะไล่เรียงซักถามถึงรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติม หลังจากที่ได้รับคำแนะนำ แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น หากเปรียบกันแล้วคงไม่ต่างจากการไปซื้อของในห้างสรรพสินค้าที่ลูกค้ามักถามพนักงานขายเครื่องสำอางหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าว่า ยี่ห้อไหน รุ่นไหนดี โดยคาดหวังว่าพนักงานขายจะต้องมีความรอบรู้ในตัวสินค้าเป็นอย่างดีและสามารถแนะนำสินค้าที่ดี่ที่สุดได้ โดยพนักงานขายอาจแนะนำสินค้าที่ตัวเอง “คิดว่า” เหมาะสม ซึ่งในบางครั้งอาจเชียร์สินค้าที่ทางห้างต้องการโปรโมทหรือให้ทำยอดขายตามเป้า
ในความเป็นจริง กองทุนรวมมีความแตกต่างและหลากหลายมากมายขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนและระดับความเสี่ยง แต่ละกองทุนมีข้อดีและข้อด้อยในตัวเอง ไม่มีกองทุนที่ดีพร้อมในทุกด้าน เช่น ให้ผลตอบแทนสูง แต่มีความผันผวนและความเสี่ยงต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงไม่มีกองทุนไหนที่ดีเลิศเหมาะสำหรับนักลงทุนทุกๆ คน
สิ่งที่ผู้แนะนำการลงทุนเพียรพยายามทำทุกครั้งคือ สอบถามถึงเป้าหมาย วัตถุประสงค์การลงทุน ผลตอบแทนที่คาดหวัง ระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ ระยะเวลาในการลงทุน รวมทั้งประสบการณ์การลงทุน และข้อจำกัดต่างๆ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลประเมินนักลงทุน และแนะนำกองทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุน ซึ่งคำตอบคงไม่ใช่กองทุน ABC ที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะกองทุนที่ดีและเหมาะสมของแต่ละคนอาจมีความความแตกต่างกันไป
บางคนบอกว่าได้ผลตอบแทนประมาณ 3% สม่ำเสมอก็ถือว่าดีพอแล้ว ในขณะที่บางคนต้องการผลตอบแทนสูงกว่า 10% นักลงทุนบางท่านทนความผันผวนไม่ได้ เฝ้าติดตามเห็นมูลค่าหน่วยลงทุนลดลงไปเพียง 1-2% ก็เกิดความกระวนกระวายอยู่ไม่เป็นสุข กลัวขาดทุน แต่นักลงทุนบางท่านมีความทนทานสูงเห็นว่ามูลค่าหน่วยลงทุนที่ลดลง 10-20% เป็นเรื่องปกติธรรมดา
การทำความเข้าใจลักษณะของนักลงทุน ผู้แนะนำการลงทุนต้องใช้เวลาในการสัมภาษณ์ซักถามพูดคุยและให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องไปพร้อมๆ กัน คงไม่ง่ายเหมือนกับการขายเครื่องสำอางหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่พนักงานขายอาจใช้เวลาเพียง 10 นาทีก็ปิดการรขายได้
จึงขอให้เข้าใจวิธีคิดและกระบวนการทำงานของผู้แนะนำการลงทุน ซึ่งต้องนำเสนอกองทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละท่าน มิใช่เพียงหวังทำยอดขายให้ตัวเองหรือบริษัทจัดการ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ขอให้นักลงทุนพิจารณาถึงเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน” รวมทั้งความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และทำความเข้าใจลักษณะ นโยบายการลงทุนของกองทุนให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อเลือกกองทุนที่เหมาะสม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการลงทุน