ธนาคารกรุงเทพจัดสัมมนา AEC Business Forum 2019  เชิญกูรู-ซีอีโอระดับโลกร่วมเวที หนุนผู้ประกอบการไทยลุยตลาดอาเซียน

ธนาคารกรุงเทพจัดสัมมนา AEC Business Forum 2019 เชิญกูรู-ซีอีโอระดับโลกร่วมเวที หนุนผู้ประกอบการไทยลุยตลาดอาเซียน

ธนาคารกรุงเทพจัดสัมมนาใหญ่ประจำปี AEC Business Forum 2019 เชิญกูรู-ซีอีโอธุรกิจระดับโลกร่วมเวทีแชร์มุมมอง พร้อมอัพเดทเทรนด์เศรษฐกิจ หวังช่วยกระตุ้นนักธุรกิจไทยเร่งปรับตัว-เปิดตลาดสู่อาเซียน พร้อมเป็น ‘เพื่อนคู่คิด’ ให้ลูกค้าก้าวสู่ตลาดระดับภูมิภาคอย่างมั่นคง

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี AEC Business Forum 2019 ภายใต้หัวข้อ “2020: The Age of ASEAN Connectivity” ซึ่งนำเสนอความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของอาเซียน พร้อมเจาะลึกทิศทางการเติบโต รวมถึงเทรนด์ด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนให้นักธุรกิจไทยได้เปิดมุมมองเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนธุรกิจในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น

 

การจัดงานครั้งนี้ ธนาคารได้รับเกียรติจาก ดร.ซ่ง เฉิง จือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Avanda Investment Management ที่ปรึกษาด้านการลงทุนของกระทรวงการคลังสิงคโปร์และธนาคารกลางในสิงคโปร์ นอร์เวย์ และไทย และสมาชิกคณะกรรมการบริหาร MIT Endowment กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘ASEAN Economy in a Multi-Polar World & Investment Implications’

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารบริษัทชั้นนำระดับโลกและภูมิภาค รวมถึงผู้บริหารจากธนาคารกรุงเทพ ร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ ผ่านการเสวนาในหัวข้อต่างๆ ประกอบด้วย เสวนาหัวข้อแรก ‘ASEAN CEO’s Vision 2020 & Beyond’ โดย นายอาลก โลเฮีย (Mr. Aloke Lohia) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) นายเจมส์ อู๋ (Mr. James Wu) ประธานบริหาร หัวเว่ย ประจำภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด นายพอล ลิม (Mr. Paul Lim) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท PESTECH International Berhad และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เสวนาหัวข้อที่ 2 ‘Rising Sectors of AEC’ โดย นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา ประธานกรรมการ บริษัท ฤทธา จำกัด และนางสาวนิรมาณ ไหลสาธิต  รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

และ เสวนาหัวข้อสุดท้าย ‘Strategies for Growth: ASEAN’s E-Commerce Trends & Tips in 2020’ โดย นายแจ็ค จาง (Mr. Jack Zhang) รองประธานบริหาร บริษัท Lazada ประเทศไทย นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท  Sea Group (ประเทศไทย) นางสาวสมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย)  จำกัด และนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการธนาคารและผู้จัดการโครงการพิเศษด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

นายชาติศิริ กล่าวอีกว่า “ระยะเวลาเพียง 4 ปีนับจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ก่อให้เกิดผลลัพธ์และความก้าวหน้าอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น การค้าระหว่างภูมิภาคอาเซียนที่ขยายตัวขึ้นกว่า 10% จีดีพีของภูมิภาคที่เติบโตถึง 5.2% ในปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  และกลายเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก นอกจากนี้ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการสร้างโครงข่ายไฟฟ้าและเครือข่ายดิจิทัล ก็ได้ส่งเสริมการเติบโตของภูมิภาคและการเชื่อมโยงกันของประเทศต่างๆ ตลอดจนช่วยเชื่อมธุรกิจและผู้บริโภคเข้ากับโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ  ทั้งนี้ การยกระดับการเชื่อมโยงระหว่างกันของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จะเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การเติบโตและความมั่งคั่ง จากการประสานพลังและการพัฒนาอาเซียนบนความหลากหลายทางเศรษฐกิจที่มุ่งส่งเสริมซึ่งกันและกัน”

ประเด็นสำคัญอีกประการ ได้แก่ การขยายตัวที่รวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยเศรษฐกิจดิจิทัลในมาเลเซีย ไทย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ เติบโตราว 20-30 % ต่อปี และมากกว่า 40% ในเวียดนามและอินโดนีเซีย ปัจจัยนี้ทำให้มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเกิดขึ้นในอาเซียนจำนวนมาก ในขณะที่ ความเชื่อมโยงทางการเงินในภูมิภาคได้ก่อให้เกิดบริการใหม่ๆ มากมาย เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าด้านดิจิทัล เช่น Enterprise Blockchain สำหรับบริการทางการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศและการโอนเงินระหว่างประเทศ บริการ e-wallet การนำ eKYC มาใช้ในบริการธนาคารดิจิทัล และการชำระเงินผ่าน QR Code เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ลดภาระงานเอกสาร ลดข้อจำกัดด้านการค้า ตลอดจนลดต้นทุนการทำธุรกรรมแบบข้ามพรมแดนลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม แม้อาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยโอกาสและแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายด้านเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมไปถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับทิศทางการเติบโตในอนาคต การพัฒนาศักยภาพแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการ และการส่งผ่านเทคโนโลยีไปสู่ธุรกิจระดับกลางและเล็ก

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า “อาเซียนในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากวันแรกที่เริ่มเปิด AEC เป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการและนักลงทุนจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ตลอดจนศึกษาถึงปัจจัยที่ควรต้องระวัง ซึ่งธนาคารกรุงเทพในฐานะธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน ที่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศอาเซียน และมีบริการทางการเงินครบวงจร พร้อมช่วยให้คำแนะนำในการปรับตัว และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์จากโอกาสการลงทุนที่เปิดกว้างในอาเซียน โดยได้จัดตั้งศูนย์ AEC Connect ที่ให้คำแนะนำด้านการค้าและการลงทุนสำหรับผู้ที่สนใจดำเนินธุรกิจใน AEC ผ่านกิจกรรมต่างๆ หลายด้าน เช่น การจัดงานสัมมนาประจำปี AEC Business Forum โครงการ AEC Business Leader และงานสัมมนา AEC Investment Clinic ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของธนาคารในการเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่จะสนับสนุนลูกค้าให้ก้าวสู่ความสำเร็จทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน”