มุมมองต่อตลาดหุ้นจีน
ท่านผู้ถือหน่วยลงทุน คงจะพบว่า ตลาดหุ้นจีนในปีนี้ สามารถปรับตัวขึ้นมาได้เป็นอย่างดี แม้จะเผชิญกับสงครามการค้ารอบสองที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2019 หากเทียบกับปีที่แล้ว (2018) หุ้นจีนที่เคยลดลงมากกว่า -30% ในปีนี้กลับพลิกมาบวก +15.25% (MSCI China All Shares Index: YTD ถึงสิ้นไตรมาสสาม) ได้ โดยมีสาเหตุจากสามปัจจัย คือ
1.สภาพคล่องในระบบ (Liquidity Condition)
การเติบโตที่รวดเร็วของสินเชื่อในประเทศจีน โดยเฉพาะสินเชื่อภาคธนาคารท้องถิ่น (Shadow banking) ที่เคยปล่อยกู้ให้กับโครงการที่ไม่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ จนทำให้ทางการจีนต้องเข้ามาควบคุมดูแลภาคสถาบันการเงิน ประเด็นนี้มีความสำคัญสูง เพราะธุรกิจภาคเอกชนประสบกับความลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจนทำให้เศรษฐกิจจีนเข้าสู่วัฏจักรเศรษฐกิจขาลงในปีที่แล้ว ส่วนในปีนี้ปริมาณหนี้ที่เริ่มลดระดับลง ทำให้ทางการจีนเห็นว่าสามารถใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบต่อไป นโยบายดังกล่าวมีส่วนช่วยให้หุ้นจีนเพิ่มขึ้นในปีนี้
2.พื้นฐานบริษัทจดทะเบียน (Fundamental)
นักลงทุนคาดไว้อยู่แล้วว่าในปีนี้ (2019) ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน คงจะออกมาไม่ดี แค่ประคองตัวให้รอดพ้นจากสงครามการค้าก็เป็นที่น่าพอใจอยู่แล้ว แต่ที่น่าแปลกใจคือ ผ่านไป 6 เดือน หลังสงครามการค้ารอบสองที่เริ่มในเดือน พ.ค. 2019 ตลาดมีการปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (กราฟบน: แท่งสีเทา: แสดงการปรับประมาณการกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนในช่วงสามเดือน (แท่งสีเหลือง) และหกเดือน (แท่งสีเทา) ที่ผ่านมาหลังสงครามการค้ารอบสองปะทุในเดือน พ.ค.)
ทีมวิเคราะห์ (Allianz Global Investor) ศึกษาและพบว่าบริษัทจีนจำนวนไม่น้อยได้ดำเนินการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพอย่างจริงจังในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้แม้อัตรากำไรขั้นต้นจะเติบโตลดลง แต่ผลประกอบการจริงกลับไม่ได้ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบเทรนด์อีกอย่างที่เกิดขึ้นกับบริษัทจีน คือ บริษัทหลายแห่งได้เริ่มลงทุนไปกับการอัพเกรดคุณภาพสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน ทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น จากผู้บริโภคชาวจีน การลงทุนเพื่ออัพเกรดคุณภาพสินค่าที่ว่านี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และเป็นแนวทางของธุรกิจจีนที่จะลดการพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม หากจำแนกตามรายธุรกิจแล้ว พบว่า ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแบบเก่า (Old China) เช่น ซีเมนต์ เหล็ก วัสดุก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ยังคงเผชิญภาวะยอดขายชะลอตัว แต่กลุ่มที่มีแรงสนับสนุนเชิงโครงสร้าง (New China) เช่น บริษัทด้านระบบสื่อสาร 5G นั้น รายได้เติบโตดีขึ้น
3.ยอดซื้อของนักลงทุนต่างชาติ (Flow)
ในปีนี้เม็ดเงินใหม่จากนักลงทุนต่างชาติที่เข้าซื้อหุ้นจีน Mainland ผ่านช่องทางเซี่ยงไฮ้-ฮ่องกงสต็อกคอนเน็กชะลอตัวลงเล็กน้อยในครึ่งปีแรก แต่กลับมาเป็นยอดซื้อสุทธิอีกครั้งในไตรมาสสามถึงสี่ ส่วนหนึ่งเพราะได้รับอานิสงส์ จากการปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีนในดัชนี MSCI Emerging Market เดือน ส.ค. และเดือน พ.ย. จนมีสัดส่วนอยู่ที่ 3% ของดัชนี องค์ประกอบของหุ้นจีนที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้พอร์ตของนักลงทุนที่มีฐานะลงทุนในหุ้นจีน A-Shares ต้องปรับน้ำหนัก/สัดส่วนเพิ่มขึ้นตาม คาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะทางการจีนมุ่งมั่นที่จะเปิดตลาดเงินตลาดทุนเพื่อยกระดับให้เข้าสู่สากล เห็นได้จากการขยายเพดานโควตาของนักลงทุนต่างชาติ (QFII/RQFII) ให้เข้าลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์
สัดส่วนการลงทุนกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน ณ วันที่ 31 ต.ค. 2019
สัดส่วนการลงทุนตามประเภทการลงทุน (% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ) :
ตราสารหนี้ 2.22%
เงินฝาก/บัตรเงินฝาก 2.22%
ตราสารทุน 95.90%
อื่นๆ 1.88%
ตราสารที่มีการลงทุน 3 อันดับแรก (% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ) :
Allianz Global Investors Fund – Allianz China A-Shares 42.33%
Allianz Global Investors Fund – All China Equity 40.10%
Shenzhou International Group Holdings Limited 4.40%
ผลการดำเนินงานกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน ณ วันที่ 31 ต.ค. 2019
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bblam.co.th/products/mutual-funds/foreign-investment-fund/b-chine-eq/5887#content