กองทุนรวมบัวหลวงหุ้นธรรมาภิบาลไทย (B-THAICG)

กองทุนรวมบัวหลวงหุ้นธรรมาภิบาลไทย (B-THAICG)

ภาพรวมตลาดหุ้น

ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนและภาพรวมเศรษฐกิจโลกในช่วงเวลานี้ ยังคงอยู่ที่การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะสามารถลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกร่วมกันได้ในเร็ววันนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเงินหยวนที่กลับมาแข็งค่าขึ้นทะลุระดับจิตวิทยาที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปแล้วทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรกันได้และการที่ ปธน.ทรัมป์ได้ลงนามร่างกฎหมายสนับสนุนผู้ชุมนุมในฮ่องกง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อการเจรจาทางการค้าอีกครั้ง และกดดันตลาดหุ้นในช่วงปลายเดือน

ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ที่ออกมานั้น หลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวได้บ้าง นำโดยสหรัฐที่ GDP ไตรมาสสาม ขยายตัว 2.1% (QoQ SAAR) ดีกว่าตลาดคาด และอัตราเงินเฟ้อต่ำลงเหลือ 1.6% สนับสนุนโอกาสที่ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำได้นานขึ้น ด้านเศรษฐกิจจีน ตัวเลข PMI ภาคการผลิตของทางการจีน เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว เพิ่มขึ้น 0.3 จุด มาที่ 51.7 จุด ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจยุโรป แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะยังคงปรับตัวลงต่อ และอยู่จุดต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี แต่ดัชนีฝ่ายจัดซื้อรวมเริ่มฟื้นตัวจากระดับต่ำได้บ้าง รวมถึงเศรษฐกิจเยอรมนีที่ GDP ไตรมาสสาม ออกมาขยายตัว 0.1% QoQ ทำให้รอดพ้นภาวะ ‘Technical Recession’ โดยภาพรวมแล้ว มีโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดในช่วงสั้นแล้ว

ด้านตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวลง 0.68% ปรับตัวอ่อนแอกว่าตลาดหุ้นโลก หลักๆเกิดจากการขายทำกำไรในหุ้นกลุ่ม Yield Play ได้แก่ กลุ่มสื่อสารและกลุ่มสาธารณูปโภค จากการที่อัตราดอกเบี้ยของ Fed มีโอกาสที่จะไม่ลงไปมากกว่านี้แล้ว ภาพรวมผลประกอบการไตรมาสสามที่อ่อนแอลง ทำให้มีการปรับประมาณการ EPS ของตลาดลง และปัจจัยจากการเพิ่มน้ำหนัก China A Share ของ MSCI ในรอบสุดท้ายของปีนี้ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักของตลาดหุ้นไทยลดลง กดดัน Fund Flow ของตลาดหุ้นไทยในเดือนนี้ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจ เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนกันยายนยังคงเปราะบาง ได้แก่ จากการหดตัวต่อเนื่องในหมวดสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวเป็นวงกว้าง ส่วนภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี

แนวโน้มการลงทุนต่อจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีโอกาสมีเสถียรภาพมากขึ้น จากเหตุการณ์ความเสี่ยงของสงครามการค้าและ Brexit ที่กำลังมีพัฒนาการไปในเชิงบวก ภาคการผลิตทั่วโลกที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และการอัดฉีดสภาพคล่องจากธนาคารกลางหลักทั้ง Fed, ECB และ BOJ ได้ช่วยลดความผันผวนในตลาดเงิน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังต้องติดตามให้ภาคการส่งออกฟื้นตัว การเบิกจ่ายงบประมาณในต้นปีหน้า และเม็ดเงินการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ภาคการบริโภคในประเทศกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวนั้น ยังเป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะกลาง-ยาวด้วย จึงเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีโอกาสที่จะฟื้นขึ้นตามเศรษฐกิจโลกได้ในที่สุด

ปัจจัยทั้งบวก/ลบต่อกองทุน

(+) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการ EEC เริ่มมีความคืบหน้า ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือมาบตาพุด โครงการท่าเรือแหลมฉบัง และ โครงการสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าโครงการทั้งหมดจะเริ่มต้นระยะก่อสร้างในปี 2020 สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเริ่มก่อสร้างไตรมาส 3/2020 และโครงการมาบตาพุด จะเริ่มก่อสร้างไตรมาส 2/2020 ซึ่งทั้งสองโครงการมีการลงนามในสัญญาแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

(+) เม็ดเงิน LTF&RMF ที่จะไหลเข้ามาในไตรมาสสุดท้ายอาจจะเป็นปัจจัยช่วยหนุนตลาดหุ้นในปีนี้ได้บ้าง แต่ Upside ของหุ้นไทยยังค่อนข้างจำกัดจากแนวโน้มผลการดำเนินงานของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ยังไม่โดดเด่นนัก จึงเชื่อว่า ถ้าตลาดปรับตัวลดลง จะเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าลงทุนหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานดี

(+) จากการที่ Fitch Ratings ได้ปรับเพิ่มมุมมอง Outlook ของไทย จาก Stable Outlook เป็น Positive Outlook เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อ Sentiment ของตลาดและมีความคาดหวังว่าปีหน้าไทยอาจจะได้รับการปรับ Ratings ขึ้น

(+/-) เมื่อมองไปข้างหน้าในปี 2020 พบว่า GDP ในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเป็นปัจจัยหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การที่ GDP เติบโตไม่มากนัก ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนไม่น่าสนใจ แต่จะพิจารณาถึงจังหวะที่เหมาะสมและธุรกิจที่จะลงทุนเป็นสำคัญ

(+/-) นโยบายการเงินของหลายประเทศจะลดบทบาทลง เนื่องจากในปีนี้ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปบ้างแล้ว ดังนั้นประเทศที่กระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการคลัง เช่น นโยบายด้านภาษี หรือ การอัดฉีดเงิน จะมีความน่าสนใจมากขึ้น และตลาดมองว่าสามารถกระตุ้น Sentiment ของตลาดได้ ดังนั้นธุรกิจได้ประโยชน์จากนโยบายการคลังมีแนวโน้มน่าสนใจ

(-) การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร (CEO Survey) โดย UBS นั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่เชื่อว่าการเจรจาไม่ราบรื่นนัก และบริษัทต่าง ๆ ได้มีการปรับแผนการลงทุนเผื่อรองรับสถานการณ์เชิงลบที่สุด (Worst-Case Scenario) ไว้แล้ว

กลยุทธ์การลงทุนของกองทุน

ข้อมูล ณ 29 พฤศจิกายน 2562 กองทุนมีผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนติดลบ -2.99% ในขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ติดลบ -3.43% แต่เมื่อดูตั้งแต่ต้นปี กองทุนมีผลการดำเนินงานเป็นบวก 4.49% และเกณฑ์มาตรฐานที่ 4.80% โดยผู้จัดการกองทุนยังคงเน้นการลงทุนในหุ้นที่พึ่งพิงการบริโภคในประเทศเป็นหลัก (Domestic Play) และมีมุมมองในแต่ละหมวดธุรกิจดังต่อไปนี้

กลุ่มสาธารณูปโภค : การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนับเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลเร่งผลักดันอยู่ในขณะนี้ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือ การมีระบบสาธารณูปโภคที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจไฟฟ้า ส่งผลให้ภาครัฐอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดให้ลงทุนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาอีกจำนวนมากในอนาคต รวมถึงการนำเข้า LNG และการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น EV Battery ระบบ Smart Grid ส่งผลให้ธุรกิจโรงไฟฟ้ายังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มเทคโนโลยีและสารสนเทศ : แนวโน้มผลประกอบการดีขึ้นจากรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ (Average Revenue Per User: ARPU) ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ปรับตัวลง สะท้อนการแข่งขันที่ลดลงและเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น 5G มีโอกาสประมูลในเวลาอันใกล้ และต้นทุนการได้ใบอนุญาตมีแนวโน้มลดลงตามตลาดโลก เนื่องจาก 5G ยังไม่มี use case ที่ชัดเจนในเชิงผู้ใช้งานทั่วไป แต่มีอรรถประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมใหม่ต่างๆ การจ่ายอัตราเงินปันผลที่สูงสม่ำเสมอ 4-5% สอดคล้องกับแนวโน้มผลประกอบการที่ดีและจำนวนเงินลงทุนที่ลดลง จาก 4G coverage ที่ครอบคลุมแล้ว

กลุ่มอาหาร : ผู้จัดการกองทุนมองว่ากลุ่มเนื้อสัตว์ได้ส่งสัญญาณผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จากแรงกดดันของภาวะอุปทานส่วนเกิน ซึ่งปัจจัยต่างๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี ทั้งอุปทานที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับที่เหมาะสม และการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ภาวะอุปสงค้และอุปทานเริ่มกลับเข้าสู่ดุลยภาพ ในส่วนของราคาทูน่าก็มีความผันผวนน้อยลง ทำให้การบริหารต้นทุนทำได้ดีขึ้น

กลุ่มพาณิชย์ : ธุรกิจพาณิชย์จะยังคงเติบโตดีจาก การเปิดสาขาใหม่ กำลังซื้อที่ฟื้นตัวต่อเนื่องดีขึ้น รวมถึง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อผู้มีรายได้น้อยของรัฐ นอกจากนี้ในระยะกลางถึงยาว การขยายตัวของชุมชนเมืองจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของกลุ่มธุรกิจพาณิชย์

ผลการดำเนินงานของกองทุน ณ 29 พฤศจิกายน 2562

น้ำหนักการลงทุนของกองทุนแยกตามหมวดธุรกิจเทียบกับ Benchmark ณ 29 พฤศจิกายน 2562  

ตัวอย่างโครงการที่กองทุนให้การสนับสนุน*

1. โครงการ “CAC SME Certification” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เพื่อรับรองบริษัทเอกชนขนาดเล็กและขนาดกลางที่ผ่านการตรวจสอบว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด เพื่อสร้างระบบนิเวศของธุรกิจที่ปราศจากการคอร์รัปชั่น ซึ่งบริษัท SME ที่ได้ผ่านการรับรองจาก CAC มีการปรับปรุงนโยบายและข้อปฏิบัติในการทำงาน โดยสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ การประกาศใช้นโยบาย No Gift Policy นอกจากนี้โครงการยังจัด SMEs Executive Briefing, SMEs Clinic, Independent Auditor training และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่สมาชิก

2. โครงการ “เกมเพื่อการเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชั่น” (Corrupt the Game) สำหรับเยาวชนในโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสื่อสารปัญหาและผลกระทบของคอร์รัปชั่นภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเพื่อคนไทยและโอเพ่นดรีมซึ่งพัฒนาให้รองรับการเรียนการสอนในห้องเรียนด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชั่นผ่านเกมส์ พัฒนาเนื้อหาให้เหมาะกับคาบเรียน พัฒนาเกมให้สามารถลงใน PC Windows, Stream, Android จัดทำเนื้อหาส่วนแนะนำเกมและการติดตั้งลงในคอมพิวเตอร์ให้กับคุณครู

3. โครงการเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact Capacity Development) เพื่อจัดทำ Platform ใช้สนับสนุนการทำงานโครงการข้อตกลงคุณธรรม เพื่อให้ผู้สังเกตการณ์อิสระมีระบบในการหาข้อมูลและรายงานการสังเกตการณ์ ซึ่งจะรองรับจำนวนผู้สังเกตการณ์ได้มากขึ้น (ประมาณ 200 คน)

4. โครงการหมาเฝ้าบ้าน (ACT WATCHDOG) มีการนำโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร โดยมีจุดประสงค์หลัก คือ เป็นการสร้างหมาเฝ้าบ้านให้กับประเทศ เป็นประชาชนที่ตื่นรู้และลงมือทำอย่างจริงจัง คอยสอดส่อง ส่งต่อหรือเผยแพร่ข้อมูลการทุจริต ใช้พลังทางสังคมสร้างการรับรู้ เรียนรู้และเปลี่ยนแปลง จะส่งผลในทางป้องปรามไม่ให้เกิดการทุจริตในภาครัฐตั้งแต่ต้น มีการจัดอบรมพัฒนาทีมอาสาสมัครหมาเฝ้าบ้านช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานตรวจสอบและเปิดโปงทุจริต

5. โครงการ Big Open Data เป็นโครงการสนับสนุนการจัดทำระบบรวบรวมข้อมูลของภาครัฐและเอกชน ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ใช้ตรวจสอบ มีการเชื่อมโยง จัดการ และวิเคราะห์ชุดข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการต่อต้านคอร์รัปชั่น สนับสนุนนักข่าว สื่อ ภาคประชาสังคมและประชาชน สร้างความร่วมมือในการทำงานแบบภาคี