สรุปภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย. 2019

สรุปภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย. 2019

BF Economic Research

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนอ่อนแอต่อเนื่อง (PII -6.1% YoY vs. -4.7% เดือนก่อน) โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวในวงกว้าง ทั้งหมวดก่อสร้าง (อาทิ ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง -5.3%) และหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ (อาทิ ยอดขายรถยนต์พาณิชย์ -15.5%)

การบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัว 2.4% YoY (vs. 2.1% เดือนก่อน) โดยปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่อ่อนแอลงเมื่อเทียบกับช่วง 1H 2019 อาทิ รายได้และความเชื่อมั่นยังกดดันการใช้จ่ายของครัวเรือน ทั้งนี้ ในเดือน พ.ย. มีเพียงการบริโภคสินค้าไม่คงทนและภาคบริการที่ขยายตัว (1.6% และ 3.2% ตามลำดับ) ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่ยอดซื้อสินค้าคงทนหดตัวที่ -9.1% YoY ที่ถูกฉุดจากยอดขายรถยนต์ที่หดตัวในเดือนพ.ย.ถึง -16.2% YoY

รายได้เกษตร ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของราคาสินค้าเกษตรที่เร่งขึ้นในกลุ่ม 1) ผลไม้, 2) ข้าว โดยเฉพาะข้าวเหนียวที่ยังขยายตัวสูง จากผลของภัยแล้ง ในช่วงก่อนหน้าที่ส่งผลให้อุปทานลดลง ,และ 3 ) ปาล์มน้ำมันได้รับผลดีจากนโยบายด้านพลังงาน ประกอบกับผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง อย่างไรก็ดีราคาข้าวหอมมะลิหดตัว จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังชะลอตัวและผลของฐานสูงในปีก่อน สำหรับปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรโดยรวมหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนโดยเฉพาะข้าวและปาล์มน้ำมันยังคงหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ยางพาราและมันสำปะหลังขยายตัวได้

จำนวนนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น 5.7% YoY เป็น 3.36 ล้านคน (vs. 12.2% เดือนก่อน) ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ (อาทิ การยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัว 2 หลัก อาทิ อินเดีย (22.8%) จีน (18.3%) และ รัสเซีย (10.4%) สำหรับนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ขยายตัวสูง ธปท. ได้รายงานว่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างรัสเซียและไทย

การส่งออก เดือน พ.ย.หดตัว -7.39% YoY (เดือนก่อน -4.6% YoY) คิดเป็นมูลค่า 19,656.9 ล้านดอลลาร์ฯ การนำเข้าหดตัว -13.78% (เดือนก่อน -8.1% YoY) คิดเป็นมูลค่า 19,108.1 ล้านเหรียญดอลลาร์ฯ ดุลการค้าเกินดุลที่ 548.8 ล้านดอลลาร์ฯ

สำหรับ 11 เดือนแรกของปี (ม.ค.-พ.ย.) การส่งออกหดตัว -2.77% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 227,093.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่การนำเข้าหดตัว -5.22% คิดเป็นมูลค่า 218,118.7 ล้านดอลลาร์ฯ เกินดุลการค้า 8,975.2 ล้านดอลลาร์ฯ สูงกว่าดุลการค้าในช่วงเดียวกันของปีก่อน 4 เท่า

การส่งออกของไทยในเดือน พ.ย. 2019 ที่หดตัวต่ำสุดในรอบ 43 เดือนนี้ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวจากสงครามการค้า และปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยชั่วคราว โดยเฉพาะกรณีโรงกลั่นในประเทศทยอยปิดซ่อมบำรุงในช่วงปลายปี ทำให้การส่งออกน้ำมัน เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ลดลงไปถึง 27% ประกอบกับฐานการส่งออกในเดือนพ.ย.2018 ที่สูงจากการส่งออกเครื่องบินไปสหรัฐฯ จึงทำให้การส่งออกในเดือนพ.ย.นี้ หดตัวแรง -7.39%

ทั้งนี้ หากการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลืออีก 1 เดือนของปีนี้ (ธ.ค.) หากสามารถทำได้ที่มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ฯขึ้นไป จะทำให้การส่งออกไทยจะหดตัวราว -2% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งปีรวม 247,000 ล้านดอลลาร์ฯ

ภาพดุลการค้าที่ปรับตัวสูงต่อเนื่องจากการนำเข้าที่ลดต่ำแรงกว่าการส่งออก มีส่วนทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด11-month ทะยานขึ้นไปถึง 32,787 ล้านดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 28,041 ล้านดอลลาร์ฯ ที่ผ่าน ธปท. ได้ออกเกณฑ์ในการควบคุมเงินไหลเข้า และอำนวยความสะดวกของเงินทุนไหลออก แต่เงินบาทก็ลงไปแตะต่ำกว่า 30 บาทเมื่อสิ้นปี