BF Economic Research
ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่านในครั้งนี้ มีชนวนจากการลอบสังหาร นายพลกาเซ็ม โซไลมานี บุคคลสำคัญของอิหร่าน ด้วยการโจมตีทางโดรนของสหรัฐฯ ณ สนามบินกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการประกาศว่าจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่อิหร่านเคยตกลงไว้กับ 6 ชาติมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน อีกต่อไป และจะกลับมาเดินหน้าพัฒนาโครงการวิจัยด้านนิวเคลียร์
ทั้งนี้ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านก่อตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องหลังจากในปี 2018 ที่ทรัมป์ให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และใช้วิธีการคว่ำบาตรกับอิหร่านหลายครั้ง หลังจากนั้น ส่งผลให้ท่าทีของอิหร่านต่อสหรัฐฯ เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งในอนาคตการตอบโต้ของอิหร่านอาจมีหลายรูปแบบ เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ การสะสมแร่ยูเรเนียมเพื่อใช้ในการทำนิวเคลียร์ และการโจมตีแหล่งน้ำมัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อิหร่าน กล่าวว่า ยังเปิดช่องทางการเจรจากับประเทศอื่นๆ ในยุโรปในข้อตกลงนิวเคลียร์ได้ต่อไป รวมถึงให้ความร่วมมือกับไอเออีเอ หน่วยงานของสหประชาชาติด้านนิวเคลียร์ตามที่เคยเป็นมา
นอกจากนี้ ผลจากความขัดแย้งยังได้ขยายวงไปถึงอิรัก หลังจากเมื่อวันที่ 5 ม.ค. รัฐสภาอิรักมีมติเห็นชอบ (แต่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย) ให้สหรัฐฯ และต่างชาติถอนกำลังทหารออกจากประเทศ เนื่องจากอิรักเกรงว่าตัวเองอาจกลายเป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ อีกครั้ง เช่นเดียวกับในปี 2003-2011 ที่อิหร่านและสหรัฐฯ ต่างแข่งกันมีอิทธิพลในอิรัก นับตั้งแต่กองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ โค่นผู้นำเผด็จการ ซัดดัม ฮุสเซ็น ของอิรักลง ในขณะที่สหรัฐฯ ได้ตอบโต้การเห็นชอบของสภาอิรักด้วยการขู่ว่าจะคว่ำบาตรในระดับที่ “ไม่เคยมีมาก่อน” และจะไม่ถอนกำลังทหารออก หากอิรักยังไม่ชดใช้เงินทั้งหมดในการตั้งฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในอิรัก (มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ฯ)
ด้านสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เตรียมลงมติจำกัดอำนาจของทรัมป์ในการใช้ปฏิบัติการทางทหารต่ออิหร่าน โดยสมาชิกพรรคเดโมแครตต่างแสดงความไม่พอใจที่ทรัมป์ไม่ได้แจ้งต่อรัฐสภา และไม่ได้ขออนุมัติก่อนที่จะใช้ปฎิบัติการทางทหารโจมตีจนเป็นเหตุให้ นายพลกาเซ็ม โซไลมานี เสียชีวิต ซึ่งเรามองว่า สภาผู้แทนราษฎรน่าจะลงมติเห็นชอบในการจำกัดอำนาจของทรัมป์ในการใช้ปฏิบัติการทางทหารต่ออิหร่าน แต่ยังไม่แน่นอนว่าวุฒิสภา ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากนั้น จะเห็นชอบด้วยหรือไม่
หลังจากเหตุการณ์ในวันที่ 3 ม.ค. ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้น 4.3% สู่ระดับ 63.84 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 4.4% สู่ระดับ 69.16 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล โดยหากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านส่งผลกระทบต่อการแหล่งน้ำมัน และการขนส่งน้ำมันในตะวันออกกลางอาจทำให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นไปสูงกว่า 70 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล
วิเคราะห์ผลของราคาน้ำมันต่ออัตราเงินเฟ้อและการนำเข้าไทย
1) จากข้อมูลปี 1990-2019 ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อไทย โดยส่วนใหญ่จะวิ่งไปด้วยกัน จะมีบางช่วงที่วิ่งสวนทางกัน ได้แก่ ช่วงปี 1997-1998 (Thai Financial Crisis) ช่วงปี 2009 (Sub-prime Mortgage Crisis) และช่วงปี 2015 (Fed Tapering)
2) เมื่อ Run Correlation โดยใช้ Window Period เท่ากับ 30 เดือนแล้วขยับ Window ทีละ 1 เดือนและ Run Correlation ไปเรื่อยๆ พบว่า ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นไป พบว่า Correlation ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางบวก และสำหรับ Window Period 30 เดือนล่าสุด ค่า Correlation อยู่ที่ 0.66 หรือ 66%
3) เราจึงนำข้อมูลมา Run Regression โดยใช้ข้อมูล 30 เดือนล่าสุดพบว่า หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 80 ดอลลาร์ฯ/bbl จะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับขึ้นในกรอบราว 0.3-0.8 % หมายความว่าอัตราเงินเฟ้อไทยสามารถปรับขึ้นได้ที่ประมาณ 1.1-1.6% ในปีนี้ในกรณีฐานที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.8% ในปี 2020
Source: Bloomberg
4) การนำเข้าน้ำมันของไทย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิในรูปแบบของ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (EPPO) เราได้ประเมินมูลค่าการนำเข้าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
หาก 1) เรานำเข้าปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นราว 3% ของมูลค่าที่นำเข้าในปีก่อน (คำนวณจากปริมาณนำเข้าในอดีตเฉลี่ย) และ 2) ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปที่ 80 ดอลลาร์ฯ/ bbl จะมีผลทำให้รายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น 6,500 ล้านดอลลาร์ฯจากปี 2019 หรือราว 20% ของดุลบัญชีเดินสะพัดไทยในปี 2018 (ซึ่งอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ)
การนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันของไทย
Source: EPPO
สรุปไทม์ไลน์สถานการณ์สหรัฐฯ VS อิหร่านในขณะนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้างนับตั้งแต่วันที่ทรัมป์ฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
🚩8 พฤษภาคม 2561 – สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านที่ตกลงกันไว้ในปี 2558 (ตั้งแต่สมัยของประธาธิบดีบารัค โอบามา) ร่วมกับมหาอำนาจอีก 5 ชาติ มีใจความสำค้ญว่าอิหร่านจะไม่สามารถเสริมสร้างแร่ยูเรเนียมเกินระดับ 300 กิโลกรัม และห้ามไม่ให้อิหร่านใช้อาวุธนิวเคลียร์ เป็นเวลา 15 ปี แลกกับการที่ทางสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน
🚩7 สิงหาคม 2561 – สหรัฐฯ สั่งห้ามทำการค้ากับอิหร่าน
สหรัฐฯ กลับมาใช้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับอิหร่านอย่างทางการเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ถอนตัวจากข้อตกลง โดยการคว่ำบาตรรอบนี้ มีข้อห้ามไม่ให้ทำการค้ากับภาคธุรกิจของอิหร่านในบางประเภท อาทิ การบิน การค้าขายพรม ถั่วพิสตาชิโอ และทองคำ ส่งผลให้อิหร่านสูญเสียรายได้มหาศาล
🚩5 พฤศจิกายน 2561 – สหรัฐฯ คว่ำบาตรด้านธนาคารและค้าน้ำมัน
สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรอิหร่านรอบที่ 2 โดยครั้งนี้เน้นที่ส่วนธนาคารและการค้าน้ำมัน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของอิหร่าน
🚩8 เมษายน 2562 – สหรัฐฯ ประกาศ IRGC เป็นกลุ่มก่อการร้าย
สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำประกาศให้ กองกำลังป้องกันการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps: IRGC) กองทัพหลักของอิหร่านเป็นองค์กรก่อการร้าย ขณะที่อิหร่านโต้กลับว่า ฝั่งสหรัฐฯ เป็นรัฐที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และเรียกกองทัพสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติภารกิจในภูมิภาคตะวันออกกลางว่า “กลุ่มก่อการร้าย”
🚩20 มิถุนายน 2562 – อิหร่านยิงโดรนสหรัฐฯ ข้อหารุกน่านฟ้า
กองทัพอิหร่าน ประกาศว่ายิงโดรนของกองทัพสหรัฐฯ ตก หลังพบว่ามีการรุกล้ำน่านฟ้าอิหร่าน ขณะที่สหรัฐฯ ออกมายอมรับว่าโดรนถูกยิงตก แต่อ้างว่าเหตุเกิดขณะที่โดรนบินเหนือน่านน้ำสากล
🚩25 มิถุนายน 2562 – สหรัฐฯ คว่ำบาตรการเงินผู้นำอิหร่าน
สหรัฐฯ ดำเนินการคว่ำบาตรด้านการเงินต่อผู้นำสูงสุดของอิหร่าน และคนใกล้ชิด ซึ่งทรัมป์ เพื่อตัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนของผู้นำอิหร่าน
🚩4 กันยายน 2562 – สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำบริษัทขนส่งน้ำมันอิหร่าน
สหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจด้วยการขึ้นบัญชีดำเครือข่ายบริษัทขนส่งน้ำมันของอิหร่าน โดยให้เหตุผลว่าเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการภายใต้การควบคุมของ IRGC
🚩11 ธันวาคม 2562 – สหรัฐฯ คว่ำบาตรสายการบินอิหร่าน
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรสายการบิน Mahan Air (สายการบินที่ใหญ่ที่สุดของอิหร่าน) และอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าของอิหร่าน โดยให้เหตุผลว่ามีการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงให้แก่กลุ่มติดอาวุธในเยเมน
🚩27 ธ.ค. 2562 – ฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรักถูกจรวดขีปนาวุธ
ฐานทัพสหรัฐฯ ใกล้เมืองคีร์คูก (Kirkuk) ประเทศอิรัก ถูกโจมตีด้วยจรวดขีปนาวุธกว่า 30 ลูก เป็นเหตุให้พลเมืองสหรัฐฯ 1 คน ที่ทำงานในฐานทัพดังกล่าวเสียชีวิต โดยการโจมตีในครั้งนี้ สหรัฐฯ สรุปว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม”คาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ (Kataib Hezballah)” กองกำลังติดอาวุธในอิรักที่หน่วยรบพิเศษคุดส์ของอิหร่านให้การสนับสนุน
🚩29 ธ.ค. 2562 – สหรัฐฯ ถล่มฐานกลุ่มติดอาวุธในอิรัก/ซีเรีย
สหรัฐฯ ใช้ขีปนาวุธทางอากาศถล่มฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธในอิรักและซีเรีย ได้แก่ กลุ่มคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ 3 แห่งในอิรัก และอีก 2 แห่งในซีเรีย เป็นเหตุให้กองกำลังของกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว 25 คนเสียชีวิต และอีก 51 คนบาดเจ็บ
🚩31 ธ.ค. 2562 – เกิดเหตุประท้วงบุกสถานฑูตสหรัฐฯ ในอิรัก
จากเหตุกาณ์โจมตีของสหรัฐฯ ทำให้ชาวอิรักที่สนับสนุนกลุ่มคาตาอิบ เฮซบอลเลาะห์ จำนวนมากไม่พอใจ ทำให้ฝูงชนชาวอิรักและกองทัพอิหร่าน ก่อเหตุประท้วงและบุกสถานทูตสหรัฐฯ ที่กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก ทำลายประตูและจุดไฟเผาสิ่งของต่างๆ ก่อนที่กองทัพสหรัฐฯ และอิรักจะเข้าสลายกลุ่มผู้ประท้วง
🚩2 มกราคม 2563 – สหรัฐ แถลงว่าอิหร่านกำลังวางแผนโจมตีกองทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง
“มาร์ก เอสเปอร์” รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่าอิหร่านกำลังวางแผนโจมตีบุคลากร-เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง พร้อมเตรียมดำเนินมาตรการป้องกันและปกป้องชีวิตพลเรือนและกองทัพอเมริกัน
🚩3 มกราคม 2563 – ทรัมป์สั่งยิงนายพลกาเซม โซเลมานี
“โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ สั่งโดรนยิงขีปนาวุธสังหารนายพลกาเซม โซเลมานี (Qasem Soleimani) ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษกุดส์ของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ทหารคนสำคัญและเป็น”มือขวา”ของ “อยาตอลลาห์อาลี คาเมเนอี” ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ในขณะกำลังเดินทางออกจากสนามบินในกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีรอบนี้อีก 6 คน หนึ่งในนั้นคือ อาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดีส์ รองผู้บัญชาการกลุ่ม คาตาอิบ เฮซบอลเลาะห์
การโจมตีครั้งนี้ สหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า “พลตรี โซเลมานี ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางแผนสังหารชาวอเมริกันมากมาย ขณะที่ทรัมป์ปกป้องการตัดสินใจว่าเขาพร้อมดำเนินการใดๆ ก็ตามที่จำเป็น เพื่อปกป้องชาวอเมริกันจากการถูกคุกคาม”
ขณะที่ผู้นำอิหร่านก็โต้กลับทันที ว่าจะแก้แค้นสหรัฐฯอย่างสาสม ทำให้สหรัฐฯประกาศอพยพพลเมืองอเมริกันออกจากอิรักทันที เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย
🚩4 มกราคม 2563 – สหรัฐฯ โจมตีขบวนรถเครือข่ายนักรบชีอะห์ / อิหร่านชักธงรบสีเลือด / ทรัมป์ขู่ล็อคเป้าสถานที่สำคัญของอิหร่าน 52 แห่ง
สหรัฐฯเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศรอบใหม่ ประมาณ 01.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของอิรัก เป็นการโจมตีขบวนรถของกองกำลัง “ฮาชิด อัลชาบี” เครือข่ายนักรบชีอะห์และมีความใกล้ชิดกับอิหร่าน
มีผู้เสียชีวิต 6 ราย นอกจากนี้ สหรัฐฯยังส่งทหารไปตะวันออกกลางเพิ่มอีกราว 3,000 ถึง 3,500 นาย
ขณะอิหร่าน ชักธงรบสีเลือดบนยอดสุเหร่าศักดิ์สิทธิ์จามคารานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อแสดงว่าอิหร่านพร้อมประกาศสงครามเต็มรูปแบบแล้ว เริ่มยิงขีปนาวุธถล่มเขตทหาร สถานทูตอเมริกันและแหล่งการทูตจากนานาชาติ
“โดนัลด์ ทรัมป์” ออกมาเตือนว่า สหรัฐ “ล็อกเป้า” สถานที่สำคัญของอิหร่าน 52 แห่ง และจะเปิดฉากโจมตีอย่างรวดเร็วและหนักหน่วง หากอิหร่านโจมตีชาวอเมริกัน หรือทรัพย์สินของสหรัฐ
เป้าหมายทั้ง 52 แห่งนี้ เป็นจำนวนเท่ากับชาวอเมริกัน 52 คนที่ถูกจับเป็นตัวประกันในอิหร่านนานกว่า 1 ปี ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1979 หลังจากอิหร่านยึดสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะราน
🚩5 มกราคม 2563 – อิรักโจมตีสถานฑูตสหรัฐฯ ในอิรัก
สถานทูตของสหรัฐฯ ในอิรักตกเป็นเป้าหมายการโจมตีโดยอาวุธหลายลูก แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ขณะที่ชาวอิหร่านร่วมแสนกว่าคน ออกมารวมตัวกันต้อนรับศพของนายพลกาเซม โซเลมานีกลับมา รัฐบาลอิหร่านจัดพิธีศพให้อย่างสมเกียรติ
🚩6 มกราคม 2563 – อิหร่านฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ / จีนยื่นมือช่วยรักษาสันติภาพตะวันออกกลาง
อิหร่านถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์และจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี 2015 อีกต่อไป พร้อมเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างเต็มตัว ขณะที่สำนักข่าวซินหัวจากรัฐบาลจีน ออกมารายงานว่า
“จีน” จะยื่นมือช่วย “อิหร่าน” เพื่อรักษาสันติภาพในตะวันออกกลางและอ่าวเปอร์เซีย พร้อมทั้งคัดค้านการใช้ความรุนแรงของกองทัพสหรัฐอเมริกา เพราะจะยิ่งทำให้เหตุการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น
🚩7 มกราคม 2563 – สหรัฐส่ง B-52 ไปมหาสมุทรอินเดีย
สหรัฐฯ ส่ง “เครื่องบินทิ้งระเบิด B-52” ไปยังฐานทัพดิเอโกการ์เซีย ซึ่งเป็นดินแดนเกาะหินปะการังภายใต้การปกครองของอังกฤษในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อเตรียมรับมือกับอิหร่านหลังประกาศจะล้างแค้นสหรัฐฯ อย่างสาสม
ที่มา : npr, aljazeera, BBC NEWS, Workpoint news, The Standard, PPTVHD36