โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
เริ่มต้นนักษัตรใหม่ ในปี 2020 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงและท้าทาย ปีแห่งความกระตือรือร้น และมุมานะ หลายสิ่งหลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการทำงานที่มีการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้มากขึ้น จนคนทำงานต้องปรับตัวกันอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่บางอาชีพที่เคยเป็นอาชีพที่มั่นคง ก็ถูก Disrupt ไปเช่นกัน แต่สิ่งเหล่านี้มาเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อย่างไรนั้น เราต้องลองมาพิจารณากันค่ะ
- พิจารณาเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เริ่มต้นปีมา ถือเป็นโอกาสเหมาะในการตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายเกษียณผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจาก มีหลากหลายนโยบายให้เลือกลงทุน รวมถึงมี Employee’s Choice ที่พนักงานอย่างเราสามารถเลือกลงทุนในนโยบายที่โดนใจได้ เนื่องจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เป็นการลงทุนระยะยาว (โดยเฉพาะคนที่ยังมีเวลาทำงานอีกยาว) ดังนั้น การเลือกนโยบายลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากใจไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าลงทุน ลงทุนในสัดส่วนน้อยๆ เพียง 2-3% และยังลงทุนเฉพาะในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนแค่เพียงตราสารหนี้แล้ว โอกาสที่เงินจะงอกเงยได้มากนั้นคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น ควรลองพิจารณาถึงระยะเวลาคงเหลือในการลงทุน ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง รวมถึงโอกาสในการได้รับผลตอบแทนด้วย
- ควรใส่เงินสะสมเท่าไหร่ดี
ยิ่งสะสมมากยิ่งดี เพราะท้ายที่สุดแล้วเงินก้อนนี้ก็เป็นเงินให้ตัวเราใช้ในยามเกษียณ ดังนั้น หากใครอยากเกษียณสบาย แนะนำให้สะสมมากเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถสะสมได้สูงสุด 15% แม้ว่าบริษัทอาจจะใส่เงินสมทบให้น้อยกว่าที่เราสะสมก็ตาม และเงินที่สะสมสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 500,000 บาท
- ลงทุนแล้วอยากเปลี่ยนใหม่ทำได้ไหม
หากลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว แต่มีกองทุนใหม่ๆ มาให้เลือก หรือเห็นว่าจังหวะนี้การลงทุนในหุ้นเสี่ยงเกินไป อยากจะสับเปลี่ยนก่อนก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัทเรากับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ว่าให้สิทธิในการสับเปลี่ยนได้ปีละกี่ครั้ง และยังสามารถเลือกได้อีกว่าจะสับเปลี่ยนเฉพาะเงินเดิมที่ลงทุนอยู่ หรือจะสับเปลี่ยนเงินใหม่ที่จะลงทุนในอนาคต ดังนั้น หากใครที่ยังมีเวลาลงทุนอีกนาน แต่ใจยังกล้าๆ กลัวๆ อาจเลือกสับเปลี่ยนเงินลงทุนเดิมไปอยู่ในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้มากหน่อย และเลือกการลงทุนของเงินใหม่ไปลงทุนในกองทุนหุ้น กองทุนต่างประเทศ ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อล็อคมูลค่าเงินก้อนเก่าไม่ให้ผันผวนมากนัก ส่วนเงินก้อนใหม่ที่ลงทุนจะมีความผันผวนสูงมากขึ้น ดังนั้น ต้องดูสัดส่วนเงินลงทุนให้ดี ให้เหมาะกับสไตล์ของตัวเรา
- ถ้าบริษัทไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องทำอย่างไร
ไม่ต้องเสียใจไป เรายังสามารถลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้ ซึ่งมีหลากหลายนโยบายให้เลือกลงทุนเช่นกัน เพียงแต่ไม่มีเงินสมทบจากบริษัทนายจ้างเท่านั้น ที่สำคัญของการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ คือ ต้องมีวินัยในการลงทุน หลายครั้งจะพบว่าเคยลงทุนไปแล้ว แต่ลืมลงทุน เพราะไม่ได้หักเงินลงทุนอย่างสม่ำเสมอ จะลงทุนเองตามจังหวะ หรือตามช่วงที่อยากลงทุน โดยเฉพาะช่วงที่อยากใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ดังนั้น แนะนำให้ทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอโดยการหักเงินในบัญชีเงินฝาก จะทำให้เงินที่เราจะไปจับจ่ายอย่างฟุ่มเฟือยลดลง เพราะต้องกันเงินไปลงทุน และเป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุนของการลงทุนทุกๆ ครั้ง ทำให้ต้นทุนการลงทุนของเราไม่สูงจนเกินไป
เห็นอย่างนี้แล้ว แม้ว่าในปีหนูทองจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย แต่อย่าลืมว่าในช่วงที่เรายังมีรายได้ ต้องจัดสรรเงินที่มีไว้ใช้ในยามเกษียณ อย่าได้แต่คิดว่าตอนนี้แย่แล้วใช้เงินในตอนนี้ก่อน เพราะหากเป็นแบบนี้ยิ่งตอนเกษียณอาจจะแย่ยิ่งกว่าเพราะอายุมากขึ้น ประกอบกับการทำงานที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ วัน เราจึงต้องใช้ความพยายามมากขึ้น แม้อาจจะรู้สึกว่าลำบากแต่ขอให้อดทน เพื่อความสุขสบายในบั้นปลายของชีวิต