โดย … ณัฐคม ธีรโรจนวงศ์
กองทุนบัวหลวง
อย่างที่ทราบกันดีว่า ในหลายประเทศทั่วโลก เผชิญกับปัญหามลพิษและฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ประสบปัญหาอย่างหนักในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากหลากหลายปัจจัย เช่น การปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ การเผาขยะ รวมไปถึงสภาพอากาศที่ปิด จนทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในอากาศขึ้น
ล่าสุด องค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า ประชากร 9 ใน 10 ของโลก สูดดมอากาศที่ปนเปื้อนมลพิษ และพบว่า ปัญหามลพิษดังกล่าวได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 7 ล้านคนต่อปี โดยเกิดขึ้นกับประเทศที่กำลังพัฒนามากกว่า 90% และในส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จากการสูดดมและสะสมของมลพิษเป็นเวลานานติดต่อกัน ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงการใช้ชีวิตของประชาชน จึงทำให้รัฐบาลในหลายประเทศให้ความสำคัญที่จะเร่งแก้ไขปัญหานี้แบบจริงจัง
ประเทศจีน ถือว่า เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยมีการขยายตัวของเมือง และเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรม จนกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แต่ในขณะเดียวกัน การขยายตัวอย่างรวดเร็วของจีน ทำให้เกิดปัญหามลพิษที่ตามมาเช่นกัน ทำให้เกิดการตื่นตัวของคนในประเทศขึ้น จนกระทั่ง ในปี 2013 รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการ Clean Air Action Plan ขึ้น เพื่อที่มาแก้ไขปัญหานี้แบบเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายที่จะลดค่าฝุ่น PM 2.5 ลงเฉลี่ยปีละ 5% จากการลดการใช้ถ่านหิน การจำกัดการใช้รถยนต์ รวมไปถึงการสั่งย้ายโรงงานออกนอกเมืองที่มีมลพิษมาก โดยหลังจากมาตรการดังกล่าวพบว่า มลพิษทางอากาศในเมืองหลวงอย่างปักกิ่งได้ลดลงกว่า 40% ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาวัสดุก่อสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น ซีเมนต์ ให้มีคุณสมบัติในการช่วยลดมลพิษและฝุ่นละอองในอากาศ โดยบริษัท Italcementi ในประเทศอิตาลี ได้คิดค้นซีเมนต์ที่ผสมสารไทเทเนียมไดออกไซด์ขึ้น ซึ่งสารนี้จะถูกเร่งปฏิกริยาจากแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบบนพื้นผิว ทำให้เกิดการดูดซับไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของหมอกควัน และเปลี่ยนเป็นแคลเซียมไนเตรท ก่อนที่จะถูกชำระล้างออกผ่านน้ำ หรือฝนที่ตกลงมาได้
โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการนำไปใช้กับ อาคาร Palazzo Italia ในเมืองมิลาน ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีมลพิษสูงในแถบยุโรป จากการออกแบบของบริษัท Nemesi & Partners ที่มีแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ โดยต้องการให้อาคารนี้เสมือนป่าที่อยู่ในเมือง โดยนำซีเมนต์กินฝุ่นไปประยุกต์ใช้ทำเป็นฟาซาด (องค์ประกอบด้านหน้าอาคาร) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภายนอกอาคารกว่า 9,000 ตารางเมตร อีกทั้งยังใช้แผงโซลาร์เซลล์แบบกระจกใสเป็นส่วนประกอบของหลังคา เพื่อที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของอาคารสีเขียวที่สร้างขึ้น โดยให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
จากแนวคิดของอาคารกินฝุ่น อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนส่วนมาก และยังไม่อาจแก้ไขมลพิษได้เป็นบริเวณกว้าง แต่ทีมผู้พัฒนาหวังว่า อาคารนี้จะเป็นต้นแบบให้กับอาคารอื่นได้ อีกทั้งเทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ได้ เช่น ทางเท้า หลังคา รวมไปถึงโครงสร้างภายนอกอาคารต่างๆ
ในปัจจุบัน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การกระทำของมนุษย์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม และในทำนองเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ก็มีผลโดยตรงต่อการดำรงของชีวิตมนุษย์เช่นกัน แนวคิดด้าน ESG จึงถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญในวงกว้าง รวมถึงในมุมมองของผู้ลงทุนในการมีส่วนร่วมในการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ โดยไม่คำนึงถึงแต่ผลกำไรเป็นอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของบริษัทได้ในระยะยาว