เฟด เซทโทนดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลทั่วโลกอัดเม็ดเงินกระตุ้นทางการคลัง

เฟด เซทโทนดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลทั่วโลกอัดเม็ดเงินกระตุ้นทางการคลัง

BF Economic Research

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ เฟด ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% (พร้อมกับปรับลดอัตราดอกเบี้ย IOER ลงมาสู่ ระดับ 1.1% ด้วย เป็นการเร่งด่วน ในวันที่ 4 มี.ค. ก่อนกำหนดการประชุมจริงในวันที่ 17-18 มี.ค. โดย FOMC ให้เหตุผลว่า เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

โดยปกติแล้ว FOMC จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% แต่ครั้งนี้ปรับลด 0.5% ในครั้งเดียว (ล่าสุดที่ FOMC ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5%คือในเดือน ต.ค. 2008) และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนอกรอบการประชุม เฟด เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2008 ซึ่งขณะนั้นเกิดวิกฤตการเงิน

ในแถลงการณ์ เฟด ได้กล่าวว่า COVID-19 กำลังสร้างความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และท่ามกลางความเสี่ยงเหล่านี้ และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของเฟดในการรักษาเสถียรภาพของราคา และการจ้างงานเต็มศักยภาพ FOMC จึงตัดสินใจในวันนี้ในการปรับลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น

จากข้อมูลในอดีตในครั้งที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยนอกรอบ เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในรอบการประชุมถัดไปทำให้ตลาดคาดว่า เฟดจะยังมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5%ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 17-18 มี.ค. นี้ หมายความว่า ตลาดมองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 1.0% ในเดือน มี.ค. นี้ เป็นผลให้ตลาดมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯน่าจะอยู่ที่ 0.5-0.75%

ปธน.สหรัฐฯได้ให้ความเห็นว่า “เฟดจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก และสิ่งสำคัญที่สุดคือ เฟดจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ หรือคู่แข่งของเรา โดยเราไม่ได้รับการแข่งขันที่เท่าเทียมกับประเทศอื่น ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับสหรัฐฯ และในที่สุดถึงเวลาแล้วที่เฟดจะต้องเป็นผู้นำ โดยผ่อนคลายนโยบายมากขึ้น และลดดอกเบี้ยมากขึ้น”

นอกเหนือจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว เฟด ยังเข้าไปเพิ่มสภาพคล่องด้วยการซื้อพันธบัตรระยะสั้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นผลให้ขนาดงบดุลของ เฟด มาอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ฯ

เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% มาสู่ 1.0-1.25% นอกการประชุม พร้อมกับปรับลดอัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ด้วย

เฟดเพิ่มสภาพคล่องต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว

ที่มา: Bloomberg

ขณะที่สถานการณ์ของโรคระบาด COVID-19 ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ธนาคารกลางหลายประเทศได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อลดแรงกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รัสเซีย ออสเตรเลีย ตุรกี และบราซิล เราคาดว่าเมื่อเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแรงเช่นนี้จะเป็นการสร้างธีมดอกเบี้ยขาลงให้กับทุกธนาคารกลางทั่วโลกในปีนี้ และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในวันที่ 25 มี.ค.นี้มีความเป็นไปได้สูงที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาที่ 0.75% จากปัจจุบันที่ 1.0%

หลายประเทศใช้นโยบายการคลังหนุนเศรษฐกิจอีกแรงหนึ่ง โดยจากข้อมูลดังตารางด้านล่าง รัฐบาลในหลายประเทศประกาศใช้งบพิเศษในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผ่านการช่วยเหลือทางการแพทย์ การลดหย่อนภาษีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และการแจกเงินให้กับประชาชนเพื่อใช้จ่ายในช่วงวิกฤติ คณะรัฐมนตรีบางประเทศได้ประกาศงดรับเงินเดือน ขณะที่บางประเทศได้บริจาคเงินเดือนส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบ

เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2019 หลายๆประเทศได้สงวนท่าทีที่จะใช้เม็ดเงินคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นประเทศเยอรมนี และสิงคโปร์ซึ่งสองประเทศนี้เป็นประเทศที่มีวินัยทางการคลังสูงมาก แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผัน การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้เม็ดเงินคลังถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แม้ว่าบางสถานะทางการคลังจะย่ำแย่ก็ตาม แม้แต่รมว. คลังของเยอรมนีก็ได้ออกมากล่าวว่าจะใช้เม็ดเงินคลังเพิ่มถ้าจำเป็น

ตีความเศรษฐกิจมาเป็นนัยยะของการลงทุนแล้ว เรามองว่า ณ ขณะนี้ ปัจจัยเชิงนโยบายจะไม่ใช้อุปสรรคต่อตลาดอีกแล้ว เนื่องจากทุกประเทศเปิดทางใช้นโยบายผ่อนคลายขั้นสุดทั้งการเงินและการคลัง

สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะกระทบกับการเคลื่อนไหวของตลาด ณ ขณะนี้ คือสถานการณ์ของ COVID-19 ซึ่งคาดเดาได้ยาก ระยะเวลาของการระบาดของโรค จะเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของโลก และจะส่งผลไปยังอารมณ์ของตลาดด้วย

รัฐบาลทั่วโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ที่มา: Phatra KKP