By… เสกสรร โตวิวัฒน์, CFP
BF Knowledge Center
หากเราจะแบ่งช่วงอายุในวัยเกษียณแบบคร่าวๆ โดยใช้ระยะเวลาและความสามารถในการใช้ชีวิตเป็นเครื่องกำหนดเบื้องต้นก็แบ่งได้เช่น
ช่วงเริ่มต้นเกษียณ อายุ 60-69 ปี ช่วงวัยเกษียณจริง อายุ 70-79 ปี และช่วงสุดท้ายวัยเกษียณ อายุ 80 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ช่วงอายุต่างๆ เป็นเพียงตัวเลขกำหนดคร่าวๆ ขึ้นเป็นตัวอย่างเพื่อประเมินกิจกรรมการใช้ชีวิต โดยการประเมินแต่ละช่วงอายุจะขึ้นกับสุขภาพ อายุขัยของบรรพบุรุษในครอบครัว และผลพวงจากการการดำรงชีพที่สั่งสมมาของแต่ละคนเป็นสำคัญ
ช่วงเริ่มต้นเกษียณ อายุ 60-69 ปี
ในช่วงวัยนี้ส่วนใหญ่ยังคงมีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนช่วงก่อนเกษียณ เป็นวัยที่ยังคงมีพลัง เชื่อในความสามารถของตนเองในการทำสิ่งต่างๆ เหมือนก่อนเกษียณ
ในวัยนี้ ผู้ประกอบกิจการส่วนตัวหรือผู้มีอาชีพอิสระ อาจจะมีความแตกต่างในการใช้ชีวิตก่อนและหลังเกษียณน้อย เพราะยังทำงานไปเรื่อยๆ ได้ แม้จะลดระยะเวลาการทำงานลง แต่ ข้าราชการ พนักงาน กับ ลูกจ้าง จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการใช้ชีวิตค่อนข้างมาก จากที่ต้องทำงานเต็มเวลา อาจจะกลายเป็นคนว่างงาน หรือเหลือเพียงงานพิเศษเช่น เป็นที่ปรึกษา เป็นต้น
ในวัยนี้จึงควรประเมินความพร้อมของตนเองในด้านต่างๆ ให้ดี โดยเฉพาะสถานะด้านการเงินและการใช้ชีวิตก่อนตัดสินใจจะทำอะไร เพราะเป็นวัยที่ยังฮึกเหิม อยากทำสิ่งใหม่ๆ ที่ใฝ่ฝัน โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้าง ข้าราชการ ที่มีเงินเก็บเงินออม หลายคนอย่างเริ่มต้นอาชีพใหม่ เช่น ไปลงทุนทำสวน โดยอาจลืมศึกษาความเป็นไปได้ ความสามารถ กำลังกาย และความเหมาะสมของตนเอง จนอาจเกิดผลเสียหายด้านการเงินของตนเองสำหรับใช้ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่
วัยนี้ยังเป็นวัยที่มีความสามารถทั้งทางสมองและร่างกาย หลายคนยังใช้ความรู้ที่สั่งสมมานาน รับงานที่ปรึกษา ทำกิจการต่อเนื่อง ก่อนส่งต่อให้ลูกหลาน สำหรับข้าราชการ ลูกจ้างที่เกษียณจากการทำงานเต็มเวลา อาจใช้เวลาในช่วงชีวิตนี้สั่งสมการเงินเพิ่มเติมจากการหารายได้พิเศษ หรือทำงานการกุศล หรือทำในสิ่งที่ตนเองต้องการแต่ยังไม่ได้ทำ เช่นการท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ การเข้าไปช่วยงานมูลนิธิการกุศล กิจกรรมต่างๆ หรือช่วยเหลือเลี้ยงดูลูกหลาน รวมถึงการดูแลสุขภาพออกกำลังกายสร้างความแข็งแรง