ธนาคารกลางอินเดียออกมาตรการผ่อนคลายชุดใหญ่ ลดดอกเบี้ยลงไปต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

ธนาคารกลางอินเดียออกมาตรการผ่อนคลายชุดใหญ่ ลดดอกเบี้ยลงไปต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

BF Economic Research

ในการประชุมฉุกเฉินของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) เมื่อวันที่ 27 มี.ค. RBI มีมติ 4 ต่อ 2 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 75bps ซึ่งมากกว่าที่ตลาดการ์คาดไว้ โดยลดจาก 5.25% เป็น 4.40% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ต่ำกว่าในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2008-2009 ที่ ณ ขณะนั้นอยู่ที่ 4.75%

นอกจากนี้ RBI ได้ปรับลด Cash Reserve Ratio (CRR) หรืออัตราการคงเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์สำหรับทุกธนาคารพาณิชย์ลงถึง 100bps จาก 4% เป็น 3% และลดขั้นต่ำการคงสำรองเงินสดต่อเงินฝากรายวันเป็น 80% จาก 90% รวมทั้งประกาศใช้มาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ หรือ Targeted Long Term Repo Operations (TLTROs) มูลค่ารวม 1 ล้านล้านรูปี ซึ่งรวมทั้ง 3 มาตรการแล้วจะทำให้มีสภาพคล่องไหลเข้ามาในระบบประมาณ 3.7 ล้านล้านรูปี

เหตุผลหลักของการใช้มาตรการผ่อนคลายในครั้งนี้ ได้แก่

1) เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบอดของเชื้อไวรัส COVID-19

2) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

3) รักษาเสถียรภาพด้านอัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ผู้ว่า RBI เน้นย้ำว่า RBI ยังสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้ในอนาคต และกล่าวว่าจะใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส และในการประชุมครั้งนี้ RBI ยังไม่ได้ประกาศประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจใดๆ ออกมา เนื่องจากความผันผวนสูง

กองทุนบัวหลวงได้เปลี่ยนมุมมองทิศทางนโยบายการเงินหลังจากที่ RBI ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ โดยคาดว่า RBI จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 40bps ภายในปีนี้ ท่ามกลางทิศทางการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรามองว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบของ COIVD-19 ตั้งแต่เดือนเม.ย. เป็นต้นไป หลังจากนายกรัฐมนตรี Modi ประกาศปิดประเทศเป็นเวลา 21 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา และหากอินเดีย และทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสได้ เรามองว่า มีความเป็นไปได้ที่ RBI จะต้องใช้มาตรการทางการเงินเชิงผ่อนคลายเพิ่มเติมอีก