กองทุนเปิดบีเฟล็กซ์ (B-FLEX) และกองทุนเปิดบีแอ็คทีฟ (B-ACTIVE)

กองทุนเปิดบีเฟล็กซ์ (B-FLEX) และกองทุนเปิดบีแอ็คทีฟ (B-ACTIVE)

สรุปภาพรวมตลาดตราสารทุน 

ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนอย่างมากในปีนี้ และปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว หลังจากที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จากประเทศจีนกลายเป็นการแพร่ระบาดทั่วโลก แม้ว่าประเทศจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนกลับมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศอิตาลี เกาหลีใต้ อิหร่าน รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดต่างๆ อยู่ในโหมด Risk-off  นักลงทุนขายสินทรัพย์เพื่อถือครองเงินสด จากความกังวลต่อผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่า  Fed มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการเร่งด่วนลง 2 ครั้ง ครั้งแรกปรับลดลง 0.5% สู่ระดับ 1.00-1.25% และครั้งที่สอง ปรับลดลง 1% สู่ระดับ 0% และมีมาตรการอัดฉีดเงินเพิ่มเติมแต่ตลาดยังคงตอบรับในเชิงลบ

ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนถึงแนวโน้มความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกในช่วงเวลานี้ และอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่ง คือ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวลงอย่างแรงและรวดเร็ว หลังจากที่ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตร่วมกันได้ กลายเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามราคาน้ำมันเข้ามาเพิ่มขึ้น

ด้านเศรษฐกิจไทย เผชิญกับความกดดันมากขึ้นในทุกภาคส่วน โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง ภาคการส่งออกยังคงมีความชะลอตัวจากห่วงโซ่การผลิตของจีน รวมถึงภาคการบริโภคในประเทศ ที่คนระมัดระวังการใช้จ่ายและออกนอกบ้านน้อยลง โดยความอ่อนแอลงทางเศรษฐกิจของไทยนี้ สะท้อนผ่านค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วนับจากต้นปี และการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยที่ลดลงมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ทำให้จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินและการคลังมาช่วยรองรับกับสถานการณ์นี้ โดยกนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปแล้วในต้นเดือนกุมภาพันธ์ และปรับลดอีกเป็นการเร่งด่วนในเดือนมีนาคม ขณะที่ภาครัฐนั้น ได้เริ่มมีการออกมาตรการออกมา ได้แก่ การผ่อนคลายสินเชื่อ และแจกเงินผู้มีรายได้น้อย เพื่อประคองให้เศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปได้

โดยภาพรวมแล้ว แม้ว่าเหตุการณ์การแพร่ระบาดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ จะเป็นปัจจัยที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะยาวนานเพียงใด ประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้เริ่มมีมาตรการควบคุมอย่างเข็มงวดในการปิดประเทศ แต่การรักษาหรือการป้องกันยังต้องใช้เวลา รวมถึงระดับความมั่นใจของนักลงทุน ซึ่งความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะเริ่มดีขึ้นเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ อัตราการเพิ่มขึ้นของคนติดเชื้อน้อยลง หรือการมียารักษา / วัคซีน ปัจจุบันมีความคืบหน้าในห้องแล็บไปบ้างแล้ว แต่ยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาอย่างน้อยประมาณ 6 เดือน  สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจนั้นอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้ ธนาคารกลางและนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ได้มีการเตรียมพร้อมและเริ่มทยอยออกมาตรการออกมาเพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ดังนั้น ถ้าหากระดับราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ มีการรับรู้ความเสี่ยงมากถึงระดับหนึ่งแล้ว ก็จะถือเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สามารถผ่านความผันผวนทางเศรษฐกิจช่วงนี้ไปได้ แนวโน้มการลงทุนในช่วงต่อจากนี้ จึงยังต้องจับตาปัจจัยต่างๆ ว่าจะมีพัฒนาการออกมาชี้นำภาพเศรษฐกิจไปในทิศทางใด การลงทุนจึงต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากตลาดจะยังมีความผันผวนอยู่

สรุปภาพรวมตลาดตราสารหนี้

ตลาดตราสารหนี้มีความผันผวนเช่นกัน ในช่วงแรกของการระบาด COVID-19 นั้น นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดทำให้นักลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าถือพันธบัตรซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป นักลงทุนขายพันธบัตรและตราสารหนี้เพื่อต้องการถือเงินสด เห็นได้จากตลาดตราสารหนี้สหรัฐมีปัญหาสภาพคล่องฝืดเคือง (Liquidity & Credit Crunch) ทำให้อัตราผลตอบแทน (Yield) ปรับตัวสูงขึ้น ราคาตราสารหนี้ลดลง รวมถึงส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้เอกชนกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Credit Spread) ที่กว้างขึ้น และมีการไถ่ถอนกองทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้ตลาดตราสารหนี้ไทยได้ผลกระทบเชิงลบ

อย่างไรก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปีนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม สู่ระดับ 0.75% ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์ ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองว่าพันธบัตรไทยยังสามารถลงทุนได้ สำหรับตราสารหนี้เอกชน (Corporate Bond) ผู้จัดการกองทุนจะทยอยลงทุนเมื่อ Credit Spread สูงขึ้น และพิจารณาความเสี่ยงด้าน Market Risk และ Credit Risk ควบคู่กันด้วย

นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนมีความเห็นว่าการลงทุนในตราสารหนี้ เมื่อพิจารณาในระยะยาวแล้วน่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก ถึงแม้ว่าตลาดตราสารหนี้น่าจะเผชิญความผันผวนอีกระยะหนึ่ง

กลยุทธ์การลงทุน

กองทุนเปิดบีเฟล็กซ์ (B-FLEX)

กองทุน B-FLEX มีสัดส่วนในหุ้นไม่มากนัก เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกองทุนเน้นความปลอดภัยของเงินลงทุน ซึ่งข้อมูล ณ 28 กุมภาพันธ์ 2563 กองทุนมีสัดส่วนในหุ้นประมาณ 8% และตราสารหนี้ประมาณ 92% ถึงแม้ว่ากองทุนจะมีสัดส่วนในหุ้นไม่มาก แต่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาอย่างมาก ในขณะที่ผลตอบแทนจากตราสารหนี้มีไม่มากนัก เพราะตราสารหนี้ระยะยาวมีการ Mark to Market ติดลบ ส่วนตราสารหนี้ระยะสั้นไม่สามารถให้ผลตอบแทนชดเชยการขาดทุนของหุ้นได้ จึงทำให้ผลตอบแทนของกองทุนลดลง อย่างไรก็ตามผู้จัดการกองทุนจะใช้ความระมัดระวังในเลือกหลักทรัพย์ในช่วงที่ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลง ลงทุนในตราสารหนี้ / หุ้นที่มีราคาที่ลดลงเกินมูลค่าและมีแนวโน้มที่ดีในระยะยาวต่อไป

ผลการดำเนินงานของกองทุน B-FLEX (ข้อมูล ณ 28 กุมภาพันธ์ 2563)

กองทุนเปิดบีแอ็คทีฟ (B-ACTIVE)

กองทุนเปิดบีแอ็คทีฟ (B-ACTIVE) เน้นการลงทุนในหุ้นตั้งแต่ 0-100% ซึ่งข้อมูล ณ 28 กุมภาพันธ์ 2563 กองทุน B-ACTIVE ลงทุนในหุ้นประมาณ 44% และตราสารหนี้ประมาณ 55% และจากการที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ไม่สามารถชดเชยการขาดทุนจากหุ้นไทย จึงทำให้ผลตอบแทนของกองทุนลดลง

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้จัดการกองทุนขายหุ้นบางตัวที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นมาบ้าง และในปีนี้ผู้จัดการกองทุนใช้ความระมัดระวังในการเลือกหลักทรัพย์มากยิ่งขึ้น โดยหลีกเลี่ยงกลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มธนาคาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เพราะการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้กิจกรรมการผลิต การบริการ และการใช้จ่ายขยายวงกว้างในเชิงลบ รวมถึงกลุ่มท่องเที่ยวที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

การที่ตลาดหุ้นปรับลงมากกว่า -30% ตั้งแต่ต้นปี ราคาหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมก็ปรับลงมามาก จนทำให้ P/E หรือ มูลค่าของหุ้นลงมาในระดับที่น่าลงทุน เมื่อเทียบกับ Business Model ของบริษัทและ Franchise Value ที่มีอยู่ โดย P/E ปัจจุบันอยู่ในระดับ 11.6 เท่า น้อยกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปีที่ 15.31 เท่า นอกจากนี้ ผลตอบแทนการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) ที่ประมาณ 4.47% ในปัจจุบัน เป็นระดับที่น่าสนใจ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีกระแสเงินสดดี มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง ที่สามารถผ่าน Cycle ช่วงนี้ไปได้ โดยกลุ่มที่ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองบวก คือ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มขนส่ง กลุ่มอาหาร และกลุ่มโรงพยาบาล ดังนี้

กลุ่มค้าปลีก : ธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตอย่างสม่ำเสมอและได้รับผลกระทบจากวัฎจักรเศรษฐกิจน้อย ผู้จัดการกองทุนเลือกลงทุนในบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันและมีความสามารถในการขยายธุรกิจ

กลุ่มขนส่ง : ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เติบโตระดับต่ำ เน้นลงทุนในบริษัทที่กำไรสามารถเติบโตได้จากการขยายเส้นทางเดินรถไฟฟ้าและทางด่วน

กลุ่มอาหาร : ผลตอบแทนของกลุ่มโดนกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เงินบาทแข็ง และภัยแล้ง อย่างไรก็ตามจากการที่ค่าเงินบาทเริ่มส่งสัญญาณอ่อนค่า จะได้รับผลดีต่อการส่งออก และเชื่อว่าหากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ภาครัฐจะมีมาตรการสนับสนุนเกษตรกรมากขึ้น

กลุ่มโรงพยาบาล : ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงมีความต้องการบริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลภาครัฐมีไม่เพียงพอ โดยเน้นลงทุนในโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายกระจายตัวทั่วประเทศ

ผลการดำเนินงานของกองทุน B-ACTIVE (ข้อมูล ณ 28 กุมภาพันธ์ 2563)

ใช้เผยแพร่ ณ วันที่ 1 เมษายน 2563
ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง