กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี (B-INNOTECH) และกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยีเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-INNOTECHRMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี (B-INNOTECH) และกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยีเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-INNOTECHRMF)

ผลตอบแทนหุ้นกลุ่มโกลบอลเทคโนโลยี เมื่อวัดจากดัชนี MSCI ACWI Information Technology ตั้งแต่ต้นปีถึงสื้นเดือนเมษายน พบว่า ยังเป็นหุ้นในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มอื่น เหตุผลเนื่องจากอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านเทคโนโลยีโดยภาพรวม ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 เท่าไร อุปสงค์ดังกล่าวมาจากทางทั้งทางฝั่งธุรกิจ และจากทางฝั่งผู้บริโภค

ด้านอุปสงค์ที่มาจากฝั่งธุรกิจ มาจากความต้องการโครงสร้างฟื้นฐานด้านไอทีที่องค์กรหลายแห่งเสนอให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน หรือที่เรียกว่า Work from Home อีกทางเลือกหนึ่งในการประหยัดการใช้ทรัพยากรในที่ทำงาน หรือแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่พนักงานไม่สามารถเดินทางมาออฟฟิศได้

ด้านอุปสงค์ที่มาจากทางฝั่งผู้บริโภค มาจากตลาดอี-คอมเมิร์ซ ตลาดออนไลน์เอนเตอร์เทนเมนต์ เกมส์ วิดีโอสตรีมมิ่ง การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีธุรกิจที่สนับสนุนด้านการรับส่งข้อมูลระหว่างกัน หรือที่เรียกกว่า Data Traffic เป็นแขนงที่ทวีความสำคัญขึ้นมาทันทีหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตลาดให้ค่ากับช่วงเวลา ณ ปัจจุบัน และหากท่านผู้ถือหน่วยลงทุนศึกษาลงลึก จะพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลาดให้ค่ากับหุ้นเทคโนโลยีที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่มากกว่า ทำให้สร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้นที่มีมูลค่าตลาดขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงให้ค่ากับหุ้นคุณภาพ (เป็นบริษัทซึ่งมีงบการเงินแข็งแกร่ง หนี้สินต่ำ) และหุ้นโมเมนตัม (ราคาหุ้นสร้างผลตอบแทนดีในช่วง 3 – 6 เดือนที่ผ่านมา) มากกว่าหุ้นคุณค่า (ซึ่งมีราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมตามทฤษฎี) และหุ้นวัฎจักร (ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฏจักรเศรษฐกิจโดยตรง)

การให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from Home เป็นบรรยากาศที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับบริษัทเทคโนโลยีในกลุ่มเกมส์ออนไลน์ อี-คอมเมิร์ซ วิดีโอสตรีมมิ่ง เช่น บริษัท Amazon บริษัท Netflix ท่ามกลางการปรับตัวลดลงของตลาดแบบแพนิค ผู้จัดการกองทุนหลักพบโอกาสลงทุนในหุ้นซึ่งซื้อขายผิดราคา (Miss-pricing stock) ที่อยู่ในกลุ่มซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูง ถือครองนวัตกรรม ก่อนหน้านี้เคยซื้อขายอยู่ในระดับมูลค่า Multiple ที่สูง แต่ราคาหุ้นร่วงลงแรง นอกจากหุ้นซอร์ฟแวร์แล้ว ได้เพิ่มฐานะลงทุนในหุ้นวัฏจักรที่อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และกลุ่มอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

กลุ่มผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ แม้สถานการณ์ COVID-19 จะทำให้วัฏจักรการฟื้นตัวของหุ้นในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ขยายระยะเวลายาวออกไปอีก แต่หากมองในระยะยาวแล้วหุ้นกลุ่มนี้มีโมเดลทางธุรกิจที่ดี โครงสร้างการเงินดีเยี่ยม มีระดับราคาไม่แพงในเชิงเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่วัฏจักรของธุรกิจนี้ฟื้นตัว หุ้นในกลุ่มนี้จะวิ่งขึ้นได้ดีกว่าตลาด

กลุ่มอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์เชิงโครงสร้างจากเติบโตของทั้งค่ายยักษ์ใหญ่ เช่น บริษัท TSMC บริษัท Intel บริษัท Samsung รวมถึงได้รับประโยชน์จากการที่จีนได้พัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใช้ขึ้นเองในประเทศ

การที่กองทุนหลักมีสัดส่วนการลงทุนโน้มเอียงไปทางหุ้นขนาดกลางและเล็กทำให้เป็นธรรมดาที่ผลตอบแทนในระยะสั้นทำได้ต่ำกว่าดัชนีเพราะนักลงทุนในตลาดยังอยู่ในโหมดหลีกหนีความเสี่ยง หรือ Risk off อนึ่ง หุ้นเทคฯขนาดกลางและเล็กที่กองทุนหลักลงทุนมีจุดเด่นตรงที่เป็นบริษัทที่มีความสามารถในการสร้างรายได้ในรูปกระแสเงินสดสูง มีงบการเงินแข็งแกร่ง หนี้สินต่ำ

สถานการณ์ด้านผลการดำเนินงานกองทุนหลักในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 2020) และมุมมองต่อธุรกิจในพอร์ตลงทุน

กองทุนหลักสร้างผลการดำเนินงาน -12.3% เทียบเกณฑ์มาตรฐาน -11.7% หากจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยที่สร้างผลตอบแทนเชิงบวกและลบให้กับพอร์ตจะพบว่า

มุมมองต่อธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนเชิงบวก (Positive Contributors) กับพอร์ตลงทุน

บริษัทลงทุนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยประเภท อินเตอร์แอคทีฟ มีเดียแอนด์เซอร์วิส (Interactive Media and Services; กองทุนหลักมี 10.3%) กลุ่มเอนเตอร์เทนเมนต์ (Entertainment; กองทุนหลักมี 6.2%) จำพวกเกมส์ออนไลน์ วิดีโอเกมส์ อาทิ บริษัท Activision ผู้ผลิตเกมส์ ได้รับประโยชน์จากการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from Home

กระนั้นก็ดี กองทุนหลักมีความโน้มเอียงไปในหุ้นขนาดกลาง ซึ่งไม่ได้รับการตอบรับจากตลาดมากนัก ในขณะที่นักลงทุนในตลาด ซื้อหุ้นที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ในช่วง COVID-19 เช่น บริษัท Microsoft เพราะมองว่าเป็นหุ้นปลอดภัย ได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่เร่งตัวในธุรกิจ Cloud เพราะสถานการณ์ Work from Home คงจะส่งผลดีต่อบริษัท Microsoft ด้วยเหตุนี้ เมื่อกองทุนหลักมองธุรกิจอื่นมีความน่าสนใจมากกว่า มีสัดส่วนลงทุนในบริษัท Microsoft (กองทุนหลัก 4.4%,เกณฑ์มาตรฐาน 15.3%) ที่น้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จึงส่งผลด้านลบกับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรก

อนึ่ง ข้อมูลสิ้นเดือนมี.ค. 2020 กองทุนหลักยังคง ให้น้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Overweight) ในบริษัท:

  1. บริษัท Amazon ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรม Internet and direct marketing retail เนื่องจากเป็นผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ส และผู้นำในตลาด Cloud Computing
  2. บริษัท Netflix ประกาศกำไรสุทธิช่วงสามเดือนแรกระหว่างเดือน ม.ค.- มี.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 709 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีรายได้ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหตุจากยอดลงทะเบียนของธุรกิจสตรีมมิ่งมียอดจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 15.7 ล้านคน ทำให้ยอดรวมสมาชิกทั่วโลกเป็น 183 ล้านคน เทียบกับคู่แข่งอันดับต้นๆ อย่างบริษัท Walt Disney Co ที่มียอดรวมสมาชิก 50 ล้านคน ด้วยการที่ผู้คนตระหนักถึงการเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ทำให้แนวโน้มยอดสมาชิกของธุรกิจในกลุ่มเทคฯ ด้าน Home Entertainment มียอดสมาชิกเพิ่มขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารบริษัท Netflix ก็ไม่ได้ อยากจะคาดเดาในเชิงบวกมากเกินไป เพราะ
    2.1 ยอดการชมและยอดสมาชิกอาจลดลงหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย
    2.2 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้รายได้ที่เร่งตัวในไตรมาสแรกเข้ามาชดเชยผลกระทบดังกล่าว
    2.3 ปริมาณการผลิตรายการที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าหยุดชะงัก อันเนื่องมาจากการล็อคดาวน์เมืองและคำแนะนำที่บริษัทได้รับจากหน่วยงานสาธารณสุข
    อย่างไรก็ตาม บริษัท Netflix มีความได้เปรียบในเชิงแข่งขันตรงที่ ยอดสมาชิกของบริษัทได้รับผลกระทบน้อยกว่าคู่แข่งอย่างบริษัท Walt Disney Co เนื่องจากยังมีรายการเก็บไว้ในคลังแสงเตรียมพร้อมออกมานำเสนอหากการผลิตรายการเผชิญกับภาวะหยุดชะงัก ที่ผ่านมาบริษัทดูแลพนักงานเป็นอย่างดี มีการมอบเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาด ให้กับทีมงานช่างไฟ นักแต่งหน้าศิลปิน คนขับรถ พนักงานทีมงานผลิตรายการ รวมมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ให้น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Underweight) ในบริษัท:

  • บริษัท Microsoft ซึ่งทำธุรกิจซอร์ฟแวร์ แม้จะเป็นที่แน่ชัดว่าบริษัทจะเป็นผู้ชนะในระยะยาว มีฐานะทางการเงินดี แต่เนื่องจากเป็นหุ้นที่ได้ส่งมอบผลตอบแทนดีเลิศให้นักลงทุนมาตลอดในช่วง 2-5 ปีที่ผ่านมาแล้ว ในแง่ระดับมูลค่าส่วนเพิ่ม หรือเรียกว่า Upside Valuation น่าจะมีไม่มาก ผู้จัดการกองทุนหลักจึงมองหาโอกาสลงทุนในบริษัทที่มีมูลค่าตลาดขนาดกลางและขนาดเล็กทดแทน

มุมมองต่อธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนเชิงลบ (Negative Contributors) กับพอร์ตลงทุน

กองทุนหลักลงทุนหุ้นกลุ่มซอฟต์แวร์ 17.1% หนึ่งในนั้นคือซอฟต์แวร์ทางธุรกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 สถานการณ์นี้กระทบงบลงทุนและงบพัฒนาทางด้านไอทีของบริษัท งบลงทุนทางด้านไอทีที่ลดลงนี้ บริษัทส่วนใหญ่กล่าวว่าต้องการประคับประคองเฉพาะโปรเจกสำคัญๆ ที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Work from Home Economy เป็นอันดับแรก ดังนั้น รายได้ของบริษัทของโกลบอลเทคโนโลยีที่อยู่ในกลุ่มซอฟต์แวร์เชิงธุรกิจ หรือ เอนเตอร์ไพรส์ซอร์ฟแวร์ เช่น บริษัท SAP บริษัท IBM จึงเป็นที่น่าวิตก

กองทุนหลักเพิ่ม/ลดตราสารทุนช่วงเดือน ม.ค.- มี.ค. ดังนี้

เพิ่มสัดส่วนการลงทุน

1.บริษัท SoftBank Group (Fund 2.6%)

Sub-sector: Wireless Telecom

Region: Japan

จุดเด่น: มีความน่าสนในเพราะราคาหุ้นซื้อ/ขายในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ อีกทั้งมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้

1.1 มีการลงทุนในหุ้นของกิจการอื่นที่เน้นการวิจัยและพัฒนาทางด้านนวัตกรรม

1.2 Softbank มีฐานะการลงทุนใน Alibaba ซึ่งเป็นอีคอมเมิร์สรายใหญ่ของจีน

1.3 ประเด็นด้านความโปร่งใสที่คอยกดดันราคาหุ้นในช่วงก่อนหน้าผ่อนคลายลง เพราะได้รับการเปิดเผยรายละเอียดมากขึ้น อาทิ การลงทุนในกองทุน Vision Fund ซึ่งเป็นกองทุนที่ให้เงินสนับสนุนกับธุรกิจ Startup

กองทุนหลักเพิ่มสัดส่วนลงทุนในช่วงที่บริษัท Softbank เผชิญกับกระแสเชิงลบตามพาดหัวข่าว เนื่องจากบริษัทถือครองหุ้นของธุรกิจที่ประสบภาวะการขาดทุน เช่นบริษัท UBER ผู้ให้บริการด้านการขนส่ง บริษัท WeWork ผู้บริการด้านสถานที่ทำงาน ซึ่งขาดทุนยับ อย่างไรก็ตาม มูลค่าบริษัทยังมีอยู่ เพราะธุรกิจอี-คอมเมิร์ซกับจีนผ่านการถือครองหุ้นบริษัท Alibaba การถือครองหุ้นธุรกิจสื่อสารในญี่ปุ่น และในสหรัฐฯ การควบควมกิจการระหว่างบริษัท T-Mobile และบริษัท Sprint สร้างมูลค่าให้กับบริษัท SoftBank Group ได้

2.บริษัท KLA (Fund 4.4%, Index 0.3%)

Sub-sector: Semiconductor & Semiconductor Equipment

Region: North America

ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่อมือที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ บริษัทมีจุดเด่นตรงที่อุตสาหรรมนี้ต้องใช้เงินลงทุนมาก ทำให้ยากต่อการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ และได้ประโยชน์จากการที่จีนต้องการสร้างระบบนิเวศธุรกิจขึ้นเอง ดังนั้นหากจีนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมาใช้เองมากขึ้น บริษัทจะได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ดังกล่าว

3.บริษัท Dell Technology (Fund 2.2%, Index 0.1%)

Sub-sector: Technology Hardware

Region: North America

แม้อาจดูเป็นแค่บริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ แต่มูลค่าของบริษัทอยู่ตรงที่การถือครองหุ้นบริษัท VMware ในสัดส่วน 80% ซึ่งอยู่ในตลาด Data center, Virtualization, Automation ล้วนได้ประโยชน์จากสถานการณ์ Work from Home บริษัทสร้างรายได้จากกระแสเงินสดสูงเมื่อเทียบกับรายได้ ทำให้ลดสัดส่วนหนี้สินลงไปได้มาก

4. บริษัท Amazon (Fund 1.4%, Index n.a.)

Sub-sector: Internet and direct marketing retail

Region: North America

5.บริษัท Marvell Technology (Fund 1.8%, Index n.a.)

Sub-sector: Semiconductors & Semicon. Equipment

Region: North America

ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในอุปกรณ์ด้านการสื่อสาร 5G โดยเฉพาะ จึงอยู่ในตำแหน่งที่ดีเพราะได้รับผลพวงจากทั้งบริษัท Samsung บริษัท Ericsson บริษัท Nokia ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการสื่อสารจากนี้ไปอีก 3 ปี

ลดสัดส่วนการลงทุน

1.บริษัท Tesla (Fund 0.0%, Index 1.0%)

Sub-sector: Automobiles

Region: North America

บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

จุดเด่น: มีระบบนิเวศธุรกิจของตนเองครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์โดยไม่ต้องพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานจากผู้ผลิตค่ายอื่น คาดว่ารายได้บริษัทจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่บริษัทผลิตสร้างกระแสเงินสดแล้วเป็นปีที่สอง เปิดตัวโมเดลใหม่ในปี ค.ศ. 2020 แต่เนื่องจากราคาหุ้นพุ่งขึ้นมาเร็ว แม้จะมียอดขายรถยนต์ส่งมอบแล้ว 3 ล้านคัน และตลาดให้ค่ากับรถยนต์โมเดล 3 ก็ตาม ระดับมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นกองทุนหลักจึงขายทำกำไร

2.บริษัท Salesforce (Fund 0.0%, Index 1.6%)

Sub-sector: Software

Region: North America

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทลาออก ส่งผลเชิงลบการบริษัท

3.บริษัท Western Digital (Fund 3.7%, Index 0.2%)

Sub-sector: Tech Hardware

Region: North America

ในอดีตเป็นหุ้น Laggard ที่ตลาดคาดหวังไว้น้อย แต่ราคาเริ่มเพิ่มขึ้นมาแรง กองทุนหลักจึงขายทำกำไร

4.บริษัท Alibaba (Fund 0.9%, Index n.a.)

Sub-sector: Internet and direct marketing retail

Region: China

ตัวบริษัทได้มีการเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยการลงทุนในโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ Cloud Computing มูลค่า 200 พันล้านหยวน (มูลค่า 28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับธุรกิจของตนเอง แผนลงทุนดังกล่าวกินระยะเวลา 3 ปี โดยลงทุนปีละ 67 พันล้านหยวน การระบาดของไวรัสได้กระตุ้นความต้องการต่อโครงสร้างและเทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำงานในทุกหนทุกแห่ง ณ ปัจจุบันบริษัทมีแอปพลิเคชันประเภท Cloud Based และสนับสนุน Work from Home ชื่อ DingDing ซึ่งได้รับความนิยมขึ้นมาทันทีภายหลังการแพร่ระบาด ปัจจุบันบริษัท Alibaba ครองส่วนแบ่งตลาดธุรกิจ Cloud ในจีนเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 46% อันดับ 2 คือบริษัท Tencent ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาด 18% อันดับ 3 คือบริษัท Baidu ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาด 8.8% ธุรกิจ Cloud ของบริษัท Alibaba มีรายได้เพิ่มขึ้น 62% ในไตรมาส 4/2019 สู่ระดับ 10.7 พันล้านหยวน ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 7% ของรายได้รวมของบริษัท

5.บริษัท Intel (Fund 3.5%, Index 3.1%)

Sub-sector: Semiconductors & Semicon. Equipment

Region: North America

จุดเด่น: ได้รับประโยชน์จาก Secular Growth ของ Internet of Things (IoT) และ Data center บริษัทมีรากฐานทางด้าน DCG (Data Center Group) แข็งแกร่ง
แต่ด้วยการที่ราคาหุ้นขึ้นมาแรงเพราะตลาดมองว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จาก Work from Home Economy อุปสงค์ในธุรกิจ Cloud โดดเด่น โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด

รายชื่อหลักทรัพย์ลงทุน 10 อันดับแรกของกองทุนหลัก Fidelity Global Technology Fund

กองทุนหลัก (Master Fund)

ชื่อ: Fidelity Funds – Global Technology Fund ชนิดหน่วยลงทุน Class Y-ACC-USD

นโยบายการลงทุน: เป็นกองทุนรวมต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนของบริษัททั่วโลก ที่มีการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์กระบวนการหรือบริการ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์อย่างสูงจากความก้าวหน้าและการพัฒนาทางเทคโนโลยี

วันที่จดทะเบียน: 23 กุมภาพันธ์ 2017 (Share class Y-ACC-USD)

ประเทศที่จดทะเบียน: ลักเซมเบิร์ก

สกุลเงิน: USD

เกณฑ์วัดผลการดำเนินงาน (Benchmark): MSCI AC World Information Technology (N)

Morningstar Category: Large cap core growth

Bloomberg code: FFGTYAU LX

Fund size: 5,686 Million USD

Number of positions in fund: 65

* Source: https://www.bblam.co.th/application/files/2015/8752/0770/Professional_Factsheet_FF_-_Global_Technology_Fund_Y-ACC-USD_032020.pdf

ผลการดำเนินงานกองทุนย้อนหลัง (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2020)

กองทุนหลักมีการปรับพอร์ตลงทุนอย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

  • ยังคง Full Invested เหมือนที่เคยเป็น การเปลี่ยนแปลงฐานะลงทุนของหุ้นในพอร์ตถือว่ามีบ้างเหมือนกันแต่ถือว่าน้อยมาก หุ้นในพอร์ตที่เกี่ยวโยงกับ Stay at home economy เช่น หุ้นในกลุ่มเกมส์ กำลังได้รับประโยชน์สูงสุด (เช่น บริษัท Activision Blizzard, บริษัท Electronic Arts) รวมถึงหุ้นในกลุ่ม Online media และหุ้นในกลุ่ม Cloud Software ก็เช่นกัน
  • ในแง่ของสัดส่วนการลงทุนรายประเทศ กองทุนหลักได้ลดสัดส่วนหุ้นทางฝั่งเอเชียและเพิ่มฐานะลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ เพราะเล็งเห็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลงมากกว่าตลาดหลักอื่นในโลก ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้คือสิ่งที่ทำมาในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
  • ด้านการบริหารสภาพคล่องของเงินลงทุน กองทุนหลักได้ติดตามเงินเข้าออกกองทุนทุกวัน เมื่อดูตัวเลขแล้วรู้สึกสบายใจไร้กังวลต่อการบริหารสภาพคล่องในช่วงนี้ ที่พบเงินไหลออกมากที่สุดต่อวันอยู่ที่ประมาณ 1 % ของพอร์ต ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่จัดการได้ ในขณะที่ทีมงานฝ่ายบริหารความเสี่ยงได้ให้ข้อมูลตัวเลขทางสถิติจากการทำ Stress test จำนวนหลายครั้งว่า 95% ของกองทุนหลัก สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ภายใน 20 วัน
  • ด้านความผันผวนของราคาตลาดในตอนนี้ กองทุนหลักมองว่าความผันผวนของตลาดเป็นโอกาสของ Active manager เช่นตัวเขาที่คอยเลือกหุ้นรายตัว ในทางตรงกันข้าม กองทุนโกลบอลเทคโนโลยีประเภทที่ใช้ควอนต์เป็นโมเดลในการซื้อขายต้องเผชิญกับภาวะถูกบังคับขายหุ้น (Forced sales) ที่ราคาต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนมากไปกว่านี้ (Cut losses)
  • กองทุนหลักได้กล่าวถึงตัวบริษัท FAANG (Facebook, Apple, Amazon, Netflix, Google) ต่อไปด้วยว่า Facebook และ Google ในระยะสั้นจะเผชิญความเสี่ยงตรงที่รายได้โฆษณาออนไลน์จะลดลงจากปัจจัยเสี่ยงมหภาคแต่ในระยะยาวยังดีอยู่ ขณะที่ Amazon กับ Netflix ในระยะสั้นค่อนข้างจะดีเพราะมีโมเดลทางธุรกิจที่แตกต่างจากบริษัทอื่นตรงที่เป็นธุรกิจที่มีรายได้มาจากอี-คอมเมิร์ซกับเป็นบริษัทที่มีรายได้มาจากการสตรีมมิ่งข้อมูลซึ่งกำลังได้ประโยชน์จาก Stay at home economy

สำหรับการลงทุนหุ้นในกลุ่มโกลบอลเทคโนโลยีแล้ว เหตุการณ์ COVID-19 ทำให้มุมมองเปลี่ยนไปจากเดิมไหม

  • อุปสงค์ต่อเทคโนโลยีจะมีแนวโน้มเหมือนเดิมกับช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ COVID-19 หรืออาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ ลองคิดดูสิว่าภายใต้บรรยากาศ 1.Work from Home ณ ปัจจุบัน 2.การฟื้นตัวจากหายนะ และ 3.แผนฉุกเฉินของแต่ละบริษัท ทั้งหมดที่ว่ามานี้ทำให้การปฏิสัมพันธ์ด้านดิจิทัลของคนบนโลก ยิ่งทวีความสำคัญสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน การบริโภคสื่อเช่นกัน ผู้คนติดต่อเข้าหากันทางดิจิทัลเพราะการติดต่อกันทางตรงยังมีประเด็นให้ต้องระวัง ดังนั้นอุปสงค์ต่อเทคโนโลยียังคงเติบโตดีทั้งก่อนและหลังสถานการณ์ COVID-19

สถานการณ์ COVID-19 ทำให้ห่วงโซ่อุปทานสายการผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยีโลกเปลี่ยนแปลงไปไหมอย่างไร บริษัทจะเกิดการวกกลับของกระแสโลกาภิวัฒน์ (De-globalization) จนลดบทบาทการผลิตในภูมิภาคลงไหม

  • ห่วงโซ่อุปทานยังคงเป็น Global Supply Chain เพียงแต่ว่าฐานการผลิตและ/หรือโรงงานที่ตั้งของการผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยีที่เคยเน้นอยู่แต่ในประเทศจีน จะถูกกระจายตัวออกไปยังประเทศอื่น เช่น เวียดนาม อินเดีย เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่อยากให้ใช้คำว่า De-globalization

ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 คิดว่าธีมลงทุนที่น่าสนใจในปี 2020 นี้คืออะไร

  • 5G น่าสนใจที่สุด อุปสงค์ต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคพื้นดิน การเชื่อมโยงแบบไร้สาย จะทวีความสำคัญยิ่งยวดในภาวะปัจจุบัน เนื่องจากมี 1.ประเทศในแต่ละทวีปมีอุปสงค์ต่อการพัฒนาศักยภาพทางด้านเครือข่ายเพิ่มขึ้น 2.บริษัทเอกชนตระหนัก/ตื่นตัวถึงการนำ 5G มาใช้ในแผนงานเชิงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ 3.5G เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นทางด้านการคลังที่เกิดขึ้นให้เห็นคือในประเทศจีน จีนได้เร่งโรดแมป 5G ซึ่งช่วยกระตุ้น GDP ได้จริง เช่นเดียวกันกับประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ส่วนของสหรัฐฯ บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมเช่น Verizon และ AT&T ได้เพิ่มงบลงทุนในธุรกิจไร้สายอย่างจริงจัง ดังนั้น ธีม 5G ในพอร์ตกองทุนหลักจึงได้รับประโยชน์ขึ้นเรื่อยๆ แนวโน้มดังกล่าวเร่งตัวขึ้นจากผลของ COVID-19

Source: Fidelity International, April 2020

จุดเด่นของกองทุน Fidelity Global Technology Fund

1. มีฐานะการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จำแนกตามธีม (Thematic Sector) แล้วได้รับประโยชน์จาก Stay at home economy ได้แก่
1.1 Video Gaming (Overweight, โดยมีสัดส่วนการลงทุนตามธีมนี้มีประมาณ 9%) ได้รับประโยชน์โดยตรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 การที่คนอยู่แต่ในบ้าน หมายถึง ใช้เวลาไปกับ และมีเวลาซื้อไอเทมในเกมส์เพิ่มขึ้น ในความเป็นจริง รายได้บริษัทเกมส์ เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนหน้า อาทิ บริษัทลงทุนในพอร์ตกองทุนหลัก เช่น

1.1.1 บริษัท Activision Blizzard – “Call of Duty: Warzone” เกมส์สตรีมมิ่งซึ่งมีคนจำนวน 15 ล้านคนทั่วโลก เล่นเกมส์นี้ ในช่วง 4 วันแรกภายหลังการเปิดตัววันที่ 10 มีนาคม 2563

1.1.2 บริษัท Electronic Art – “Apex Legends” เกมส์สตรีมมิ่ง ที่มียอดลงทะเบียนดาวน์โหลดถึง 2 ล้าน Subscriber (ครั้ง) เพียงวันแรกของการเปิดตัวตอนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563

**ในอิตาลี คนจำนวนมากเล่น Fortnite ในช่วงที่มีการระบาด COVIT-19 จนทำให้ระบบเครือข่ายโทรคมนาคมของประเทศเริ่มได้รับผลกระทบ

** ในส่วนของ Valve’s Steam platform ยอดผู้เล่นทะลุ 20 ล้านคนใน ทันทีที่ทางการสหรัฐฯประกาศการแพร่ระบาดเชื้อในประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563

1.1.3 บริษัท Netease – สถานการณ์ COVIT-19 ในจีนเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นกับธุรกิจเกมส์ออนไลน์ จากการกักตัวอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากทางการจีน ทำให้หุ้นตัวนี้ซึ่งกองทุนหลักลงทุนตามธีมระยะยาว Structural Growth จึงไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบ

1.1.4 บริษัท Tencent – รายได้ธุรกิจในหมวดเกมส์ออนไลน์เพิ่มขึ้น 25% เนื่องจากผู้คนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน แต่ก็อาจสูญเสียรายได้จากการโฆษณาไป ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์จากที่ผู้จัดการกองทุนหลัก

1.2 Digital Media Consumption (Overweight, กองทุนหลักมีสัดส่วนลงทุนตามธีมนี้มีประมาณ 11%) ได้รับประโยชน์จากการที่คนอยู่บ้าน อาทิ บริษัท Netflix (กองทุนหลักมีสัดส่วนลงทุน 2.50%) ยอดผู้ลงทะเบียนสมาชิกเพิ่มขึ้น

ผู้จัดการกองทุนหลักกล่าวว่าภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ปัจจัยด้านการลงทุนและธีมในระยะยาวของกองทุนหลัก (ยกตัวอย่าง cloud computing, artificial intelligence, machine learning) ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง พอร์ตการลงทุนจึงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงที่ผ่านมา บริษัทผู้ให้บริการ Cloud Services (ซึ่งกองทุนหลักมีสัดส่วนการลงทุนตามธีมนี้มีประมาณ 16%) จะหันมาให้บริการในเชิงวิเคราะห์ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยต้องใช้ artificial intelligence และ machine learning เข้ามาช่วยพัฒนาประกอบกัน

1.3 การสร้างเครือข่าย 5G (Overweight, สัดส่วนลงทุนตามธีมนี้มีประมาณ 4% ของกองทุนหลัก)

กิจกรรมทางด้านนี้ไม่ได้หยุดชะงัก โดยยังดำเนินต่อไป เนื่องจากเป็นแผนริเริ่มเชิงกลยุทธ์ของผู้ให้บริการทางเครือข่ายโทรคมนาคมหรือที่เรียกว่า Telecom Operator
1.3.1 บริษัท Samsung – ตัวบริษัทได้ออกมาให้ความเห็นว่าอุปสงค์ต่อสมาร์ทโฟน 5G คาดว่าจะเพิ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความกังวลต่อ COVID-19 ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

1.3.2 บริษัท China Mobile – บริษัทส่งสัญญาณเร่งการนำระบบเครือข่ายด้านการสื่อสาร 5G มาใช้ให้เร็วขึ้น เนื่องจากเป็นความสำคัญเชิงกลยุทธ์ทางด้านเทคโนโลยีระดับชาติ

1.4 ยานยนต์ไฟฟ้า (Overweight, สัดส่วนลงทุนตามธีมประมาณ 4% ของกองทุนหลัก) – รถไฟฟ้า รถไฟที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ยังดำเนินต่อไป

1.5 อี-คอมเมิร์ซ (Overweight, สัดส่วนตามธีมประมาณ 11% ของกองทุนหลัก <รวม Digital Advertising>) – แม้รายได้จาก Digital Advertising จะลดลง แต่รายได้จากอี-คอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้น เนื่องจาก High Mobile internet traffic

ตัวอย่างบริษัทที่กองทุนหลัก Overweight position

อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรม (Sub-sector) ที่ได้รับผลกระทบจาก Stay at home economy ได้แก่ เทคโนโลยีในกลุ่ม Hardware และ IT Services ซึ่งกองทุนหลัก Underweight บริษัทในกลุ่มนี้ เช่น

  • บริษัท Apple (กองทุนหลัก 5.10% VS ดัชนี MSCI ACWI IT 14.80%)
  • บริษัท Microsoft Corp (กองทุนหลัก 3.90% VS ดัชนี MSCI ACWI IT 14.10%)
  • บริษัท Visa (กองทุนหลัก 0.00% VS ดัชนี MSCI ACWI IT 3.80%)

ที่มา: Fidelity International ข้อมูลสิ้นเดือนมีนาคม 2020

อัพเดทความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของหุ้นในกลุ่ม FAANG

1. บริษัท Facebook

  • บริษัท Facebook กับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศอินเดีย : ล่าสุดเตรียมเข้าซื้อแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ชื่อว่า Jio Digital Platform จากมหาเศรษฐีนักธุรกิจอินเดีย ชื่อ Mukesh Ambani ในสัดส่วน 10% ของกิจการ วัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อให้กับบริษัทย่อย WhatsApp ของตนเอง อินเดียเป็นตลาดที่ใหญ่ของบริษัท Facebook ปัจจุบันชาวอินเดียใช้งาน Facebook กว่า 400 ล้านคน ดีลดังกล่าวจะทำการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งสนับสนุนร้านขายของชำขนาดเล็กให้ยกระดับสู่ดิจิทัลได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้ผู้ประกอบการอินเดียทำธุรกิจง่ายขึ้น กระนั้นก็ตาม ดีลดังกล่าวคงหนีไม่พ้นคู่แข่งอย่างบริษัท Amazon.com และบริษัท Walmart ที่ต้องการบุกชิงพื้นที่ตลาดอี-คอมเมิร์ซแห่งนี้ด้วยการมองหาช่องทางการเป็นพันธมิตรกับบริษัทสื่อสารอินเดียรายอื่น
  • บริษัท Facebook กับเงินดิจิตอล ที่ชื่อลิบรา (Libra) : เงินดิจิทัลแบบ Stable Coin ที่มีมูลค่าคงที่ ผูกติดและอิงกับสกุลเงินจริงที่ใช้งานในโลกออกไลน์ รวมถึงสินทรัพย์ค้ำประกันชนิดอื่นๆ โดย Facebook เป็นผู้พัฒนาแนวคิดการสร้างมันขึ้นมาทั้งหมดภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชน และหน่วยงานในแผนก ‘คาลิบรา (Calibra)’ ซึ่งจะเป็นชื่อที่ถูกเรียกแทนกระเป๋าเงินอี-วอลเล็ท คาดว่าจะสร้างความท้าทายให้โลก เพราะประชากรบนโลกมากกว่าพันล้านคนไม่มีโอกาสใช้บัญชีที่เปิดไว้กับธนาคารและสถาบันการเงิน แต่คนเหล่านั้นมีสมาร์ทโฟน ดังนั้นเงินลิบราทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือ ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้

2. บริษัท Apple

  • แอปเปิลมิวสิคเตรียมขยายบริการเพิ่มอีก 52 ประเทศ ผลักดันรายได้จากธุรกิจสตรีมมิ่งเพลง นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวธุรกิจบริการที่ก้าวกระโดดที่สุดในรอบ 10 ปีของค่าแอปเปิล ซึ่งจะทำให้มีตลาดครอบคลุมจำนวน 167 ประเทศ ซึ่งจำนวนนี้รวม 25 ประเทศในกลุ่มแอฟริกาด้วย บริการของแอปเปิลมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3-11 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน เปิดให้ใช้บริการฟรีระยะเวลา 6 เดือน ปัจจุบันให้มีบริการให้กว่า 40 ภาษา แหล่งข้อมูลจาก Counterpoint Research แสดงให้เห็นถึงส่วนแบ่งตลาดเพลงสตรีมมิ่งซึ่ง Spotify ครองส่วนแบ่งตลาดมากสุดที่ 35% ถัดมาเป็น Apple Music ที่ครองส่วนแบ่งตลาด 19% และ Amazon.com ครองส่วนแบ่งตลาด 15%

เผยแพร่ ณ วันที่ 7 พ.ค. 2563

ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง