โดย…ศรศักดิ์ สร้อยแสงจันทร์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
คำถามที่่ผู้ลงทุนมักจะสอบถามเข้ามาบ่อยครั้ง นอกจากซื้อกองทุนไหนดี นั่นก็คือ ขายกองทุนดีไหม
จริงๆ แล้วมีหลักคิดอยู่ โดยอยากให้ใช้ผู้ลงทุนเป็นตัวตั้งมากกว่า ด้วยการตอบคำถามก่อนว่า ทำไมจึงขาย
คำตอบที่ได้รับก็จะมีทั้งหมด 2 กลุ่ม กลุ่มแรกก็คือ กลุ่มที่ผิดหวัง ไม่ปลื้ม อีกกลุ่มคือกลุ่มที่สมหวัง ซึ่งคำแนะนำของทั้ง 2 กลุ่มมีดังนี้
- กลุ่มที่ผิดหวัง ไม่ปลื้ม
เหตุผลเพราะขาดทุน หรือผลตอบแทนน้อย ซึ่งต้องมาดูกันต่อ เช่น การขาดทุน หากลงทุนในกองทุนหุ้นหรือกองทุนผสมที่มีตราสารหนี้น้อยและลงทุนหุ้นมาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะขาดทุน และอาจขาดทุน 1-2 ปีติดต่อกันก็เป็นไปได้ หรือบางกองทุน ผู้ลงทุนเข้าไปลงทุนผิดจังหวะ เช่น กองทุนหุ้น เข้าไปลงทุนในช่วงที่ราคาสูงๆ หรือที่เรียกว่า “ดอย” ใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะกลับมาที่เดิม ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เหล่านี้แปลว่ากองทุนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะติดลบ หากผู้ลงทุนรับไม่ได้ก็แปลว่า ผู้ลงทุนไม่เหมาะกับการลงทุนในกองทุนประเภทนี้เลย ดังนั้นคำแนะนำก็คือ ขายเถอะครับ ขายกองทุนที่ผู้ลงทุนไม่เหมาะหรือรับความเสี่ยงไม่ได้ แล้วเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนที่ความเสี่ยงต่ำกว่านี้
หากการลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับนั้นๆ ต้องลงทุนได้อย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป แล้วในระหว่าง 3 ปีมีการขาดทุน แต่ผู้ลงทุนอดทนไม่ได้ ก็แแปลว่าผู้ลงทุนไม่เหมาะกับการลงทุนในกองทุนนี้จึงควรขาย
อีกประการคือ ผู้ลงทุนมองว่า กองทุนให้ผลตอบแทนน้อยเหลือเกิน คาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนมากกว่านี้ ผู้ลงทุนต้องลองไปดูผลตอบแทนกองทุนนี้เทียบกับดัชนีชี้วัดหรือผลตอบแทนของผู้จัดการกองทุนอื่นๆ ที่เป็นกองทุนประเภทเดียวกัน หากผลออกมาว่า ผลตอบแทนกองทุนสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐานดัชนีชี้วัดหรือตลาด ก็แปลว่าหนีไปไหนก็ไม่พ้น เพราะตลาดเป็นเช่นนั้นเอง แต่หากเปรียบเทียบแล้วผลตอบแทนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ถ้าจะพิจารณาขายก็ได้
อย่างไรก็ตาม มีผู้ลงทุนที่นำผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ไปเปรียบเทียบกับกองทุนหุ้น ซึ่งเหมือนกับการนำรถเก๋งไปเปรียบเทียบกับมอเตอร์ไซด์ ความเร็ว ความปลอดภัยไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นจึงต้องย้ำว่า หากจะเปรียบเทียบผลงานของกองทุน จะต้องเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัดที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานหรือกองทุนประเภทเดียวกัน
สำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนซึ่งมีสินทรัพย์กลุ่มหนึ่งความเสี่ยงต่ำอยู่ ได้รับผลตอบแทนในระดับหนึ่ง แล้วต้องการยืดตัวไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นอีกเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั้น ก็ต้องพิจารณาว่ายอมรับความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นได้หรือไม่ เช่น เราลงทุนได้ผลตอบแทน 3% แต่เมื่อไปมองกองทุนอื่นๆ หรือเพื่อนที่อยู่ข้างๆ ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทน 5-6% ก็อยากจะลงทุนเหมือนกับเพื่อนบ้าง แต่อาจไม่ทราบว่าสิ่งที่เพื่อนลงทุนนั้นมีความเสี่ยงมากกว่า ซึ่งก็มีโอกาสที่ผลตอบแทนจะติดลบได้มากกว่าเช่นกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ ต้องกลับมามองตัวเองให้ดีก่อนที่จะไปลงทุนตาม ว่ายอมรับความเสี่ยงในระดับที่สูงกว่าเดิมได้หรือไม่
- กลุ่มที่สมหวัง
กลุ่มนี้ได้กำไรจากผลตอบแทนและต้องการขาย เพราะเห็นว่า NAV ขึ้นๆ ลงๆ เกรงว่า ถ้าไม่ขายเวลานี้เดี๋ยวราคาปรับลดลงจะเสียดาย ได้กำไรน้อยลง หรือขาดทุนอีก โดยเฉพาะกองทุนหุ้น ผู้ลงทุนมักจะเป็นเช่นนี้ เพราะผู้ลงทุนมีความเชื่อว่ากองทุนก็เหมือนหุ้น ถ้าจะได้กำไรต้องซื้อๆ ขายๆ ถ้าถือเฉยๆ อาจไม่กำไร ซึ่งไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกทีเดียว เพราะถึงแม้กองทุนหุ้นจะลงทุนในหุ้น แต่ไม่เหมือนการลงทุนหุ้นโดยตรง เพราะกองทุนมีหุ้น 20-30 ตัว การขึ้นลงของราคาอาจไม่เหมือนกับการซื้อหุ้นโดยตรงเพียงเดียว ดังนั้นผู้ลงทุนต้องพิจารณาว่ากองทุนประเภทนี้ออกแบบมาเพื่อให้ลงทุนระยะยาว หากจะซื้อเพื่อเก็งกำไรก็ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ ยังไม่นับเรื่องการซื้อขายผิดจังหวะอีก เพราะกองทุนก็เหมือนกับหุ้น มีโอกาสซื้อผิดจังหวะด้วยการซื้อสูงแล้วมาขายถูกได้เหมือนหุ้น
นอกจากนี้ กองทุนยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่แพงกว่าการซื้อหุ้นโดยตรง เช่น ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ถ้าเป็นการซื้อขายหุ้นโดยตรงจะน้อยกว่าคือประมาณ 0.2% แต่การซื้อกองทุนมีค่าธรรมเนียมการซื้อขายประมาณ 1% ดังนั้นหากซื้อขายบ่อยๆ ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมสูง หากซื้อขายแบบเข้าออกแบบแนะนำว่าไปซื้อหุ้นโดยตรงดีกว่า
ส่วนผู้ที่มีกำไรจากกองทุนรวมแล้วต้องการขาย ขอแนะนำว่าให้ขายโดยพิจารณาตามหลักการดังนี้ คือ ขายเมือต้องการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน เช่น ถ้าเคยวางแผนว่าจะลงทุนในหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% เมื่ออยู่ไประยะหนึ่งคิดว่ามีเงินเก็บเพียงพอแล้ว อยากจะลดความเสี่่ยง ปรับแผนลงทุนในหุ้นน้อยลงเหลือ 25% ลงทุนตราสารหนี้ 75% นั่นก็คือการขายกองทุนหุ้นแล้วนำเงินไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ถือเป็นการขายเพื่อปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับราคาที่ขึ้นๆ ลงๆ
อีกกรณีคือ แผนการลงทุนยังคงเดิมคือต้องการลงทุนในหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% แต่เมื่อลงทุนไประยะหนึ่งแล้ว สัดส่วนสินทรัพย์เปลี่ยนไปเพราะราคาหุ้นเพิ่มขึ้น ดังนั้นจากที่เคยลงทุนไว้สัดส่วนเท่าๆ กัน เมื่ออยู่ไประยะหนึ่ง ทำให้สัดส่วนเงินลงทุนในหุ้นกลายเป็น 60% ส่วนตราสารหนี้ ซึ่งมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นช้ากว่าหุ้นจึงทำให้สัดส่วนกลายเป็น 40% ก็อาจจะขายเพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่ตั้งใจไว้ โดยการขายกองทุนหุ้นออกไป เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นเหลืออยู่ 50% เท่าเดิม แล้วนำเงินส่วนนั้นมาซื้อกองทุนตราสารหนี้ หรือที่เรียกว่า Rebalance นั่นเอง
จะเห็นว่าทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องหุ้นขึ้นหรือลงเลย โดยรวมแล้วจะขายหุ้นดีหรือไม่ ให้ผู้ลงทุนมองที่แผนการลงทุนเป็นหลักมากกว่า