BF Economic Research
- เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่สภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 ภายหลัง GDP (เบื้องต้น) ในไตรมาส 1/2020 หดตัว -3.4% QoQ saar (-0.9% QoQ) โดยแม้จะเป็นการหดตัวที่น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ แต่นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน จากที่ก่อนหน้านี้ GDP ของญี่ปุ่นหดตัว -7.1% QoQ saar ในไตรมาส 4/2019
- ในรายองค์ประกอบของ GDP นั้น ทั้งการบริโภค การลงทุน และส่งออกต่างชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว โดยการบริโภคหดตัวต่อเนื่องที่ -2.8% QoQ saar แม้ว่าไตรมาสที่แล้วจะหดตัวลงแรงถึง -11.1% จากการปรับภาษีบริโภคขึ้นในเดือนต.ค. 2019 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัว -2.1% QoQ saar จาก -17.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนภาครัฐชะลอตัว -1.6% QoQ saar จากขยายตัว 2.1% ด้านการค้าต่างประเทศหดตัวลงแรงทั้งการส่งออกและนำเข้า โดยการส่งออกลดลง -21.8% QoQ saar ส่วนการนำเข้าสินค้าหดตัว -18.4%
- เราคาดว่า GDP ในไตรมาส 2 มีแนวโน้มหดตัวแรงกว่าในไตรมาส 1 เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่เดือนเม.ย. เป็นต้นไป หลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งประเทศในช่วงปลายเดือนมี.ค. โดยอาจเป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
- ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของญี่ปุ่น กล่าวว่า จากตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นในไตรมาส 1 นี้ที่ชะลอตัวลงทำให้รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะผ่านร่างงบประมาณพิเศษฉบับที่ 2 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้