By…ฐนิตา ตุมราศวิน และณัฐพัช กิตติปวณิชย์
Fund Management Group
โอกาสเติบโตของ e-Commerce ไทย
ในปี 2017 ETDA ประมาณการว่า ธุรกิจ e-Commerce ไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท โดยขยายตัวเฉลี่ย 11.4% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2015 สะท้อนแนวโน้มผู้ประกอบการไทยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น รวมไปถึงการเข้ามาแสวงหาโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องของบริษัทต่างชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่ามูลค่า e-Commerce ของไทยจะสามารถแตะระดับ 5 ล้านล้านบาทได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือเท่ากับว่าอัตราการเติบโตจะเร่งขึ้นเป็นประมาณ 15.5% ต่อปี ซึ่งเรามองว่า ธุรกิจ e-Commerce ไทยยังมีศักยภาพขยายตัวได้อีกมาก ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. กำลังซื้อโต หนุนธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ ปัจจุบันค้าปลีกออนไลน์มีความสำคัญต่อการเติบโต e-Commerce ไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพัฒนาการของเทคโนโลยีที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ค้าปลีกออนไลน์สามารถเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจค้าปลีกรูปแบบเดิมอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ค้าปลีกออนไลน์ไทยเองยังมีสัดส่วนเพียง 1% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลกอย่างสหรัฐฯ ยุโรปตะวันตก และจีน ที่มีสัดส่วนค้าปลีกออนไลน์ต่อยอดค้าปลีกทั้งหมดถึง 8.1% 8.2% และ 14.9% ตามลำดับ
เราจึงมองว่าธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ในไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก ด้วยแรงหนุนจากกำลังซื้อของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้า/บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเองได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดซื้อขายสินค้าออนไลน์
2. เจาะตลาดค้าปลีกออนไลน์ในต่างจังหวัด ตลาด e-Commerce ไทยในทุกวันนี้ ยังกระจุกตัวอยู่แต่ในเขตเมืองเท่านั้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะเข้าไปขยายตลาดในต่างจังหวัดที่ยังมีคู่แข่งน้อย และเครือข่ายการค้ายังไม่ครอบคลุมนัก
จากที่เราได้เห็นตัวอย่างของจีน ที่เมืองรองต่างๆ (Tier 3&4) มีอัตราการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce และจำนวนผู้ใช้ออนไลน์สูงกว่าเมืองหลัก (Tier 1&2) อย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ในเมือง Tier 1&2 สามารถเข้าถึงสินค้าได้จากหลายช่องทางอยู่แล้ว
3. SMEs ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ แม้ว่าการส่งออกในอดีตอาจเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ทำได้ค่อนข้างยาก ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังการผลิต ความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคในต่างประเทศ และการขนส่งทางเรือที่เหมาะกับการขนส่งสินค้าล็อตใหญ่มากกว่า แต่ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงผู้ซื้อกับผู้ขายได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลางเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น โดยธุรกิจ e-Commerce จะเน้นความรวดเร็วในจัดส่ง และความสมบูรณ์ของสินค้าเป็นหลักผ่านการขนส่งทางอากาศ จึงไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้าในปริมาณมาก
4. ศูนย์กลาง e-Commerce ข้ามพรมแดน เนื่องจากไทยตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน ล้อมรอบไปด้วยเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีประชากรอายุน้อยและมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บวกกับแนวโน้มการขยายตัวของสัดส่วนการส่งออกของไทยผ่านช่องทาง e-Commerce ที่เพิ่มขึ้นจาก 4% ในปี 2014 เป็น 13% ในปี 2016 ทำให้ไทยนับว่ามีความเหมาะสมที่จะพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลาง e-Commerce ข้ามพรมแดนของภูมิภาคอาเซียนได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังต้องมีการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจ e-Commerce ที่จะเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในประเทศอีกมาก อาทิ การอำนวยความสะดวกด้านการขนถ่ายสินค้า ลดความซับซ้อนของกฎหมายการค้า รวมไปถึงการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี/ค่าธรรมเนียมการค้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce ข้ามพรมแดนในไทยมากขึ้น โดยมีตัวอย่างจากการจัดตั้งเขตการค้า e-Commerce ข้ามพรมแดน 13 เขตนำร่องของจีน ที่ทำให้มูลค่า e-Commerce ข้ามพรมแดนจีนขยายตัวกว่า 100% แตะระดับ 8 แสนล้านบาทในปี 2016
5. ภาครัฐผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่าน จะเห็นได้ว่าภาครัฐมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว โปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบ Prompt Pay บัตรแมงมุม หรือการให้บริการประชาชนแบบ One Stop Service ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
โดยในปี 2016 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะ 20 ปีข้างหน้า ซึ่งระบุถึงการมุ่งลงทุนและสร้างรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคม อาทิ โครงการวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศที่แล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2017 เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย
ขณะที่เป้าหมายให้ใน 10 ปีข้างหน้า ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในทุกกิจกรรมประจำวันได้ ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นแรงส่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเกิดความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี สร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce ในไทย