BF Monthly Economic Review – พ.ค. 2563

BF Monthly Economic Review – พ.ค. 2563

BF Economic Research

ประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญๆ มีผลสืบเนื่องต่อการลงทุนในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีดังนี้

  • เหตุการณ์ Sell in May หรือ การเทขายสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ในช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งบ่อยครั้งในอดีตจะเป็นเช่นนั้น แต่รอบเดือน พ.ค. ปีนี้ ไม่เกิดเหตุการณ์ Sell in May เกิดขึ้น หนำซ้ำดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกกลับทะยานขึ้นไป ซึ่งนักลงทุนอาจสงสัยว่าทำไมเกิดเหตุการณ์โควิด-19 แต่ตลาดกลับเคลื่อนไหวไปในทางบวกได้ค่อนข้างดี
  • ณ ตอนนี้ โลก แบ่งเป็น 2 โลก 1.โลกของเรา 2.โลกของเขา
    • 1.โลกของเรา คือ โลกแห่งความเป็นจริง ที่ภาพเศรษฐกิจไม่ดีจริงๆ หดตัวทุกประเทศ ทำให้ GDP ทั้งโลกหดตัวต่ำสุดในรอบหลายปี
    • 2.โลกของเขา คือ โลกของนักลงทุน ซึ่ง ณ เวลานี้ไม่ไปด้วยกันกับโลกแห่งความเป็นจริง เพราะตลาดมองอีกแบบ โดยเวลานี้ตลาดรู้อยู่แล้วว่าถึงอย่างไรเศรษฐกิจก็ไม่ดี แต่ตอนนี้ตลาดหาปัจจัยบางอย่างที่เป็นตัวหนุนนำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นไปได้ คือ ตลาดชอบการกระตุ้นเชิงนโยบาย อยากเห็นสภาพคล่องมากๆ ซึ่งรอบนี้เป็นการกระตุ้นเชิงนโยบายมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมากเมื่อเทียบกับปี 2008-2009 ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ตลาดไม่เลือกมองเศรษฐกิจปีนี้แล้ว แต่เลือกไปมองปีหน้า เพราะฐานที่ต่ำแบบนี้ ทำให้ปีหน้าต้องดีขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งเวลาที่อะไรปรับตัวลงไปแรงๆ เวลากลับไปเท่าเดิม ตัวเลขจะเหมือนดูดีขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยบวกหนุนนำตลาด
  • ตลาดยังถูกเขย่าให้ปรับตัวขึ้นบ้างจากปัจจัยการเมืองเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืดเยื้อ เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป แล้วก็กลับมาใหม่ ในรูปแบบการปะทะซึ่งหน้ากัน และการปะทะผ่านประเทศอื่น

ดังนั้นจะเห็นว่า โลกเศรษฐกิจอาจไม่ดี แต่โลกการลงทุนกลับดีขึ้น เพราะนักลงทุนเลือกที่จะนำปัจจัยบางอบ่างเป็นตัวหนุนให้ดัชนีปรับตามไป ขณะที่การเคลื่อนไหวของการลงทุนมีขึ้นมีลงบ้าง มีความผันผวน ส่วนหนึ่งก็มาจากปัจจัยด้านการเมือง

 

 

 

เราได้นำตัวเลขรายเดือนของเศรษฐกิจในหมวด GDP , Business Condition, Retail Sector, การจ้างงาน, การค้าระหว่างประเทศ, การใช้จ่ายภาครัฐ, นโยบายการเงิน มาหา Composite Index

  1. US Score Card คะแนนส่วนใหญ่ยังไม่ดีนัก แต่คะแนนดูดีขึ้นจาก Average Hourly Earnings ปรับขึ้น เพราะ ลูกจ้างรายได้ต่ำออกจากระบบ
  2. คะแนน Score card ของยูโรโซนอยู่ที่ -43% ในเดือนเม.ย. เท่ากับในเดือนมี.ค. แต่หากพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ดัชนี PMI ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนมี.ค. ทั้งนี้ เราคาดว่า การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศในยูโรโซนจะทำให้เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในเดือนพ.ค. แม้ว่ายังมีความเสี่ยงของการเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 อยู่ และอาจทำให้การฟื้นตัวยืดระยะเวลาออกไป
  3. คะแนน Score card ของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงจาก -69% ในเดือนมี.ค. มาอยู่ที่ -78% ในเดือนเม.ย. โดยส่วน External sector ปรับตัวแย่ลงจากการส่งออก และดุลการค้าที่มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น เรามองว่า ดัชนี PMI มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินทั่วทั้งประเทศไปในวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยเห็นสัญญาณจาก PMI ในเดือนพ.ค. ที่ฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อยจากเดือนเม.ย.
  4. คะแนน Score card ของจีน ปรับลง 0% ในเดือน เม.ย. จาก 4% ในเดือนมี.ค. โดยที่ส่วนของ External Sector คะแนนที่ปรับดีขึ้น คือ การส่งออก และ trade balance ส่วนของ Business Condition ที่ดีขึ้น คือ PMI ของทางการ ที่ดีขึ้นทั้งฝั่ง Manuf และ Non-manuf แต่ส่วนที่ดึงให้คะแนนแย่ลงคือ ค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ปรับลงในเดือน เม.ย.
  5. คะแนน Score card ของอินเดียปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ -16% ในเดือนเม.ย. จาก -27% ในเดือนมี.ค. จากปัจจัย Monetary sector หลังธนาคารกลางอินเดีย (RBI) กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง และกา ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี PMI ปรับตัวลดลงอย่างหนักในเดือนเม.ย.
  6. Scorecard ของไทย ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

 

 

 

 

ขณะที่ภาพของนโยบายทางการเงินและการคลังมีความผ่อนคลาย กลับมีประเด็นเรื่องสงครามการค้า และประเด็นทางการเมืองระหว่างฮ่องกงจีนและสหรัฐฯ ขึ้นมาอีก โดยใจความหลักประกอบไปด้วย

เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พ.ค. จีนเตรียมใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง โดยที่ยังไม่มีรายละเอียดมากนักแต่ ฮ่องกงเกรงว่า กม นี้มีส่วนริดรอนอธิปไตยของฮ่องกง

สหรัฐฯได้เข้ามาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับจีน โดยได้กล่าวว่าจะ Sanction ฮ่องกง และจีน เนื่องด้วยการกระทำของจีน ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของมนุษยชน
ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ผ่าน พระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง และแก้ไขพระราชบัญญัตินโยบายสหรัฐอเมริกา – ฮ่องกงปี พ.ศ. 2535 ระบุนโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อฮ่องกง รวมถึงการประเมินผลการพัฒนาการเมืองในฮ่องกง”

พร้อมกันนี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมาย มีชื่อว่า Holding Foreign Companies Accountable Act โดยหลังจากนี้จะต้องผ่านการโหวตโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะลงนามเป็นข้อกฎหมาย ผลที่เกิดขึ้นอาจทำให้บริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐมีสิทธิ์ถูกถอดออกจากตลาดได้ทันที ซึ่งปัจจุบันบริษัทจีนชื่อดังซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐ เช่น Alibaba และ Baidu หรือแม้แต่เชนร้านกาแฟ Luckin Coffee

ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า บริษัทสัญชาติจีนที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯนั้น จะต้องไม่ถูกควบคุมหรือเป็นเจ้าของโดยรัฐบาลต่างชาติ นอกจากนี้ บริษัทสัญชาติจีนจะต้องยื่นรายงานด้านการเงินเพื่อให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านการบัญชีของบริษัทจดทะเบียน ทำการตรวจสอบบัญชี โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของบริษัทสหรัฐทุกแห่งที่ต้องการเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

โดยรวมแล้ว แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ถ้ามีปัจจัยบางอย่างหนุนนำให้อารมณ์ตลาดดีขึ้น ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามเราทำนายการเคลื่อนไหวของตลาดได้ยากมากในช่วงนี้ ตลาดเคลื่อนไหวโดยใช้อารมณ์ของตลาดเป็นหลัก ถ้าอารมณ์ดีตลาดก็จะขึ้น ถ้าอารมณ์ไม่ดี ตลาดก็จะลง

การลงทุนในช่วงนี้ เราไม่สามารถใช้ market timing ได้ เพราะเราไม่รู้ว่า timing ของตลาดจะอยู่วันไหน เมื่อไหร่ ถ้านักลงทุนไม่อยากพลาดโอกาสในการหาผลตอบแทนเพิ่มเติม ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น ว่าผลตอบแทนเพิ่มขึ้นก็ลดลงได้

นอกจากนี้ต้องมีวินัยการลงทุนอย่างเข้มงวดด้วยการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ คือ เดือนนี้ลงทุนเท่าไหร่ เดือนหน้าก็ลงทุนไปในทิศทางเดียวกัน

โดยเฉพาะในช่วงนี้ ถ้าเรานับตั้งแต่ช่วงที่ตลาดพีคสุดๆ มาจนถึงช่วงนี้ ก็เป็นช่วงที่ตลาดพยายามฟื้นตัวขึ้นมา แต่ราคายังปรับไปไม่ถึงจุดพีค การที่เราทยอยลงทุน ก็ถือเป็นการเฉลี่ยทุนได้ในระดับหนึ่ง แล้วเราก็เลือกลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็น หุ้น พันธบัตร กองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้กระทั่งการลงทุนในทองคำก็ตาม และยิ่งเราเฉลี่ยการลงทุนในหลายสินทรัพย์เท่าไหร่ ยิ่งเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะการกระจายลงทุน เป็นตัวช่วยให้ได้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจที่สุดภายใต้สถานการณ์ต่างๆ แต่อาจไม่ใช่กลยุทธ์เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากที่สุด