เฟซบุ๊กเจอมรสุมบอยคอต

เฟซบุ๊กเจอมรสุมบอยคอต

BF Editorial

โดย…ทนง ขันทอง

เฟซบุ๊กกำลังเผชิญกับมรสุมบอยคอตที่รุนแรงที่สุดในรอบ 16 ปีที่ก่อตั้งบริษัท โดยแนวร่วม Stop Hate for Profit กำลังรณรงค์ให้บริษัทต่างๆ หยุดลงโฆษณาในเฟซบุ๊กในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อสร้างแรงกดดันให้เฟซบุ๊กเซ็นเซอร์ข้อความที่แสดงถึงความเกลียดชัง หรือความรุนแรงที่สุดกู่ที่สร้างความแตกแยกในสังคม

การรณรงค์ท่ามกลางความแตกแยกในเรื่องผิวสีในสังคมอเมริกันได้ผล หลังจอร์จ ฟลอยด์ คนผิวดำถูกตำรวจผิวขาวฆ่าตาย เพราะว่า มีบริษัทเกือบ 300 แห่งได้ยกเลิกการโฆษณาบนแพล็ตฟอร์มของเฟซบุ๊ก อาทิ ยูนิลีเวอร์ โคคา-โคล่า ไฟเซอร์ เวริซอน คอมมูนิเคชั่น ฮอนดา มอเตอร์ส ทำให้มาร์ค ซัคเกอร์เบอร์ก ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอของเฟซบุ๊กต้องพยายามหาทางออกไม่ให้กระทบกระเทือนฐานะของบริษัท

แนวร่วม Hate for Profit ประกอบด้วยกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Anti-defamation League, NAACP, Color of Change, National Hispanic Media Coalition ได้ออกมาเรียกร้องให้เฟซบุ๊กถอดข้อความที่พวกเขามองว่า ก่อให้เกิดการยั่วยุ เพื่อสร้างความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงเพื่อความเสมอภาคทางผิวสี การปราบปรามผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง รวมท้ังข้อความที่สุดกู่อื่นๆ ที่ปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โฮโลคอสท์ ข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับวัคซีน และการไม่ยอมรับเรื่องโลกร้อน

การบอยคอตเฟซบุ๊กทำให้มูลค่ารวมของหุ้นของบริษัทหายไป $60,000 ล้าน ใน 2 วันตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากแรงเทขายหุ้นจากนักลงทุน ส่วนมูลค่าหุ้นเฟซบุ๊กที่ซัคเกอร์เบอร์กถือครองหายไป $7,000 ล้านไปอยู่ที่ $82,300 ล้าน ก็ยังถือได้ว่า ซัคเกอร์เบอร์กไม่ได้จนลงไปมาก

เฟซบุ๊กมีรายได้โฆษณาปีละประมาณ $70,000 ล้าน

แนวร่วม Hate for Profit ร่างแนวทาง 10 ประการให้เฟซบุ๊กดำเนินการ เพื่อลดข้อความที่แสดงความเกลียดชังอย่างรุนแรง และข้อความที่แสดงความเห็นแบบสุดกู่ ดังนี้:

1. จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อมาดูแลนโยบาย และกฎระเบียบในการคอนเทนท์ของเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับการกีดกันผู้อื่น อคติ และความเกลียดชัง

2. ให้คนนอกที่เป็นอิสระเข้ามาตรวจสอบคอนเทนท์ที่เป็นเท็จ หรือแสดงความเกลียดชังในเฟซบุ๊ก โดยรายงานการตรวจสอบต้องนำมาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ

3. แจ้งให้ลูกค้าที่เป็นบริษัทให้ได้รับทราบว่า โฆษณาที่ซื้อลงติดกับข้อความที่เป็นเท็จ หรือสร้างความเกลียดชังถูกถอดออก แล้วคืนเงินให้ลูกค้าเต็มจำนวน

4. ให้ถอดกลุ่มในเฟซบุ๊กที่เป็นตัวแทนของพวกคลั่งผิวขาว พวกที่ใช้ความรุนแรง พวกต่อต้านยิว พวกสมคบคิดสร้างความรุนแรง พวกที่ปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โฮโลคอสท์ พวกที่ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับวัคซีน และพวกที่ปฏิเสธโลกร้อน

5. ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงนโยบายของเฟซบุ๊ก เพื่อช่วยต่อต้านคอนเทนท์ที่สร้างความเกลียดชัง

6. หยุดแนะนำ หรือกระพือกลุ่ม หรือคอนเทนท์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเกลียดชัง การให้ข้อมูลเท็จ และข้อความสมคบคิดต่างๆ ให้กับผู้ใช้เฟซบุ๊ก

7. สร้างวิธีที่ส่งสัญญานเตือนข้อความที่แสดงความเกลียดชังโดยอัตโนมัติในกลุ่มเฉพาะให้มีการตรวจสอบกันได้

8. หยุดการยกเว้นนักการเมืองจากการถูกตรวจสอบหาความจริง หยุดการเอาข้อความที่เป็นเท็จออกเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียง และหยุดการห้ามการเรียกร้องให้นักการเมืองที่ใช้ความรุนแรง

9. สร้างทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาข้อความที่เกลียดชัง และมุ่งทำร้ายผู้อื่น

10. เปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกใส้ร้ายด้วยข้อความเกลียดชัง หรือถูกทำร้ายได้ให้ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของเฟซบุ๊ก

ซัคเกอร์เบิร์กเรียกประชุมเป็นการภายในเพื่อหาทางแก้วิกฤติการบอยคอตรอบนี้ ซึ่งไม่ใช่เป็นคร้ังแรกที่บริษัทเจอ เนื่องจากเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มมีเดียที่เปิด มีความหลายหลากทางข้อมูลข่าวสาร แต่ซัคเกอร์เบิร์กยืนยันว่า แม้จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการดูแล และควบคุมคอนเทนท์ที่โพสท์ลงเฟซบุ๊กบ้าง แต่โดยรวมแล้วนโยบายหลักของเฟซบุ๊กจะไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างไร

มรสุมการบอยคอตโฆษณาที่เฟซบุ๊กกำลังเผชิญในเวลานี้ค่อนข้างจะหนัก เพราะว่า เฟซบุ๊กมีรายได้หลักจากการโฆษณา แต่ผู้ลงโฆษณาอาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะว่าเฟซบุ๊กเข้าถึงผู้ใช้ หรือกลุ่มเป้าหมายทั่วโลกกว่า 2,000 ล้านคน แต่ประเด็นที่หนักกว่า คือ เฟซบุ๊กจะทำอย่างไรที่จะทำให้ทุกคนพอใจ เพราะว่า คำจำกัดความในเรื่องข้อความที่แสดงการเกลียดชัง หรือข้อความที่เป็นเท็จของแต่ละฝ่ายที่อาจมีผลประโยชน์แอบแฝงไม่เหมือนกัน