ทางออกของคนเกษียณยุคโควิด-19

ทางออกของคนเกษียณยุคโควิด-19

โดย…อรพรรณ บัวประชุม CFP®

ทำไม ต้องเกษียณปีนี้ด้วย!!! แย่แล้ว เงินที่สะสมมาทั้งหมด หดหายไปไหน? ทำยังไงดี ดูแล้วไม่น่าจะพอใช้? มีทางออกมั้ยกับคนสิ้นสุดรายได้ในปีนี้???

คำถามยอดฮิต สำหรับคนเกษียณปี 2020 ยุคโควิด–19 เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเจอะเจอ ทั้งๆ ที่ปีนี้ควรเป็นปีแห่งความสุข เป็นปีที่มีอิสรภาพทางการเงิน แต่กลับต้องมากลุ้ม กังวลใจ ห่วงทั้งรายได้ในปัจจุบัน ห่วงลูกหลานทั้งเรื่องงานเรื่องเงิน และยิ่งห่วงมากกว่านั้นคือเงินที่สะสมมาทั้งชีวิตจะเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณมั้ย จะพอใช้จ่ายไปได้อีกกี่ปี ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมั่นใจมากนัก และยิ่งเจอเหตุการณ์แบบนี้ความมั่นใจในการใช้ชีวิตหลังเกษียณยิ่งน้อยลงไปกันใหญ่

คำแนะนำสำหรับผู้เกษียณปีนี้ และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาที่ส่งผลให้เงินสะสมลดน้อยลงไปอย่าตกใจ เพราะหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เงินที่สะสมไว้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะค่อยๆ ฟื้นตัว เนื่องจากตลาดหุ้นค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น อย่ารีบขายคืน หากยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเหล่านี้ สำหรับใครที่เกษียณปีนี้ และสามารถขายคืนหน่วยลงทุนจากกองทุนได้ แนะนำให้ขายแค่พอใช้ ส่วนที่เหลือให้ถือลงทุนต่อเพื่อรอสถานการณ์คลี่คลาย หรือใครอยากปรับสัดส่วนการลงทุนใหม่ในช่วงนี้ แนะนำให้ดูสัดส่วนการลงทุนเดิมที่เราลงทุนไว้ ว่ามีสัดส่วนการลงทุนในอะไร เท่าไหร่บ้าง ควรปรับสัดส่วนตามความเหมาะสมของตัวเอง ไม่ต้องลอกเลียนแบบใคร

สำหรับใครที่ไม่อยากให้เงินต้นสูญหายแม้แต่นิดเดียว อาจต้องปรับสัดส่วนการลงทุนมาอยู่ในรูปแบบของเงินฝาก หรือการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลโดยตรง เนื่องจากการลงทุนในกองทุนรวม แม้ว่าจะเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดก็ยังสามารถขาดทุนได้จากอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลกับมูลค่าของตราสารหนี้

อย่าลืมว่า แม้เงินต้นไม่สูญหาย แต่เงินเฟ้ออาจกัดกินมูลค่าเงินของเรา ส่งผลให้มูลค่าของเงินในอนาคตลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย

สำหรับใครที่ยังพอรับความเสี่ยงได้ การแบ่งเงินบางส่วนลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ยังสามารถทำได้ เพราะแม้ว่าเราจะเกษียณปีนี้ แต่เราไม่จำเป็นต้องใช้เงินให้หมดในปีนี้ หากเราคาดว่าจะอยู่หลังเกษียณอีก 30 ปี แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องมีเงินบางส่วนลงทุนต่อเนื่องยาวๆ เราอาจแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 3 ก้อน ยกตัวอย่างเช่น

ก้อนที่ 1 ลงทุนยาว 20 ปี สำหรับเริ่มใช้ตอนอายุ 80 ปี ซึ่งเงินลงทุนส่วนนี้ สามารถแบ่งมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงมากหน่อย เช่น ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง 50%  สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ 50%

เงินก้อนที่ 2 ลงทุนยาว 10 ปี สำหรับเริ่มใช้ตอนอายุ 70 ปี แบ่งเงินก้อนนี้มาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงประมาณ 20% ส่วนที่เหลือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และ

เงินก้อนที่ 3 สำหรับใช้ในช่วง 10 ปีนี้ แบ่งครึ่งนึงไว้สำหรับหมุนเวียนใช้จ่าย และอีกครึ่งหนึ่งลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างน้อยเพื่อให้เกิดความสบายใจสำหรับเงินในช่วง 10 ปีแรก และเมื่อเวลาผ่านไปอีก 10 ปี ก็ปรับสัดส่วนการเงินทุนของเงินก้อนที่ 1 ให้คงเหลือการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเหลือประมาณ 10-20% ส่วนที่เหลือคงลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และปรับเงินก้อนที่ 2 มาเป็นเงินหมุนเวียนที่ต้องใช้ในช่วง 10 ปี (อายุ 70-80ปี)

ถ้าใครมองว่าการปรับการลงทุนทุก 10 ปี นานเกินไป ก็อาจปรับทุก 5 ปี หรือแบ่งเงินไว้ 6 ก้อน สำหรับการลงทุน 6 ระยะก็สามารถทำได้ นอกจากเรื่องเงิน เรื่องความเป็นอยู่แล้ว อย่ากังวลมากเกินไปจนทำให้ กายอ่อนแรง ใจท้อแท้ จนล้มป่วยลง ในช่วงวิกฤต เรายิ่งต้องเข้มแข็งและเป็นเสาหลัก เป็นที่พึ่งให้กับลูกหลานได้ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนเพื่อผ่านพ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ค่ะ