การปรับแก้พอร์ตโฟลิโอด้วยตัวเอง

การปรับแก้พอร์ตโฟลิโอด้วยตัวเอง

โดย…พิชญ ฉัตรพลรักษ์

กองทุนบัวหลวง

ในตลาดการลงทุนของไทยเริ่มมีการโฆษณารับปรับเปลี่ยนพอร์ตโฟลิโอออกมา รวมถึงมีผู้นำเสนอการจัดสรรเงินลงทุนในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ดี การเปรียบเทียบข้อเสนอกันแบบตรงๆ ก็ดูจะพิจารณากันได้ลำบาก เนื่องจากแต่ละที่ก็มีผลิตภัณฑ์ที่เลือกมาแตกต่างกัน น้ำหนักก็ต่างกัน หากลงทุนตามคำแนะนำในครั้งแรกและปล่อยไว้เฉยๆ โดยไม่ติดตามคงไม่ดีแน่ แต่ครั้นนักลงทุนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเงินคิดจะติดตามปรับเปลี่ยนการลงทุนเอง ก็อาจสงสัยว่า จะเริ่มต้นอย่างไรดี จะคอยติดต่อที่ปรึกษาก็คงต้องพึ่งพาเขาอยู่ร่ำไป เหมือนยืมจมูกคนอื่นหายใจ มันก็ไม่สะดวกคล่องตัว ค่าใช้จ่ายถูกแพงก็ดูยาก บทความนี้จึงนำเสนอเกร็ดความรู้ในการเริ่มต้นลงมือจัดสรรเงินลงทุนและปรับเปลี่ยนพอร์ตโฟลิโอด้วยตนเองใน 7 ขั้นตอน (Clements & Clough, 2019) และเพื่อเป็นบันไดเริ่มต้นในการก้าวขึ้นสู่นักลงทุนที่สามารถพึ่งพาตัวเองและเพิ่มความช่ำชองมากขึ้นต่อไป

ก้าวแรก คือ ต้องเรียนรู้การลงทุนในอดีตของเราโดยการมองย้อนกลับไป เช่นในช่วงที่ตลาดหุ้นลง เราเคยขายสินทรัพย์ออกไปในราคาถูกบ้างหรือไม่ หากเคยแสดงว่าเรารับความเสี่ยงได้ไม่มาก ควรที่จะปรับลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลงให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้โดยไม่เกิดความตื่นตระหนก การขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ในอดีตมีจำนวนครั้งมากน้อยเพียงไร ถ้าไม่บ่อยครั้งแสดงว่านักลงทุนอาจต้องการใช้เงินสดบ้างหรือปรับส่วนผสมการลงทุนให้เป็นไปตามกลยุทธ์ในระยะยาว แต่หากมีการซื้อขายที่ถี่เกินไปอาจแปลว่าเราอาจเปลี่ยนใจอยู่บ่อยครั้งและเป็นสัญญาณเตือนว่าเรามีความไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องการที่จะทำอะไรกันแน่

ก้าวที่ 2 กำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับความต้องการใช้เงินของตัวเองโดยการพิจารณาลักษณะของแต่ละประเภทของสินทรัพย์ (Asset Class) ตราสารทุนจะมีความผันผวนของอัตราผลตอบแทนในระยะสั้นแต่จะให้การงอกเงยของเงินลงทุนที่ดีในระยะยาวและชนะอัตราเงินเฟ้อได้ เงินฝากมีความเสี่ยงต่ำแต่อัตราผลตอบแทนหลังจากหักภาษีก็อาจจะน้อยกว่าเงินเฟ้อได้ ตราสารหนี้มีการจ่ายดอกเบี้ยที่สม่ำเสมอและราคาก็ไม่ผันผวนเท่าตราสารทุน แต่ก็สามารถเพิ่มอัตราผลตอบแทน (ตามมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น) จากตราสารหนี้พวก High Yield ตราสารหนี้ระยะยาว หรือหุ้นกู้ แต่ก็อาจมีสภาพคล่องน้อย

ส่วนการลงทุนทางเลือกนั้น คาดว่าจะให้อัตราผลตอบแทนที่ดีในภาวะตลาดตราสารทุนไม่ค่อยดีนัก เช่น ทองคำ หรือสินทรัพย์ที่ปกติให้เงินปันผลในระดับที่สูงกว่าตราสารทุน เช่น กองทรัสต์หรือกองโครงสร้าง อย่างไรก็ดีสินทรัพย์ทางเลือกก็ไม่ใช่ว่าจะเคลื่อนไหวสวนทางชดเชยให้กับราคาของตราสารทุนเสมอไป และบางประเภทก็อาจมีสภาพคล่องน้อยกว่าหุ้น ดังนั้นการจำกัดน้ำหนักการลงทุนไว้ประมาณ 5-15% ก็เป็นวิธีที่ค่อนข้างจะปลอดภัย แต่บางคนก็อาจไม่เลือกลงทุนเลยก็เป็นไปได้ ถ้าเรามีเป้าหมายในการลงทุนระยะสั้น เช่น ต้องการใช้เงินซื้อรถซื้อบ้านในระยะเวลาไม่กี่ปีก็อาจฝากเงิน หรือลงทุนในพันธบัตรที่มีอายุครบกำหนดใกล้เคียงกับระยะเวลาที่ลงทุนแทน แต่ถ้าเป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุในระยะเวลานานๆ ก็ต้องมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนสูงๆ เป็นต้น

ก้าวที่ 3 กระจายความเสี่ยงจากการลงทุน เราอาจคิดว่าการฝากเงินหรือลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินระยะสั้นๆ ไม่ได้เสี่ยงไม่ต้องกระจายความเสี่ยงอะไร อย่างไรก็ตามในระยะยาวเรามีความเสี่ยงเงินออมของเราที่อาจไปไม่ถึงเป้าหมายหรือไม่พอใช้ในท้ายที่สุดก็ได้ การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์น้อยกับแหล่งรายได้หลักที่เรามีจะเป็นการปลอดภัยกว่า เช่น หากรายได้เรามาจากกิจการน้ำมันก็ควรหลีกเลี่ยงหลักทรัพย์ของกิจการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทน้ำมัน เป็นต้น แต่ที่สะดวกที่สุดคือลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนคอยดูเรื่องการกระจายความเสี่ยงให้ และไม่ต้องคอยติดตามหลักทรัพย์เป็นตัวๆ ซึ่งเราคงไม่มีเวลามากพอ

ก้าวที่ 4 ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายจากการลงทุนให้มากที่สุด โดยปกติไม่ควรเกิน 2% ต่อปี สำหรับหน่วยลงทุนกองทุนรวมพึงพิจารณาต้นทุนทั้งขาซื้อ ขาไถ่ถอน และขาสับเปลี่ยน ส่วนหลักทรัพย์อื่นๆ ก็จะมีค่านายหน้า ส่วนต่างราคาขารับซื้อ-ขาย นอกจากนี้ยังมีค่าที่ปรึกษา หรือต้นทุนผลิตภัณฑ์ที่พ่วงมากับประกันชีวิต เป็นต้น

ก้าวที่ 5 เลือกเฟ้นหากองทุนที่ต้องการ การลงทุนโดยตรงถ้ามั่นใจและมีเวลาพอก็อาจจะมีไว้ได้บ้าง ถ้าเป็นกองทุนก็จะมีทั้งที่เป็น Passive และ Active แบบ Passive การลงทุนล้อตามน้ำหนักการลงทุนในดัชนีก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างต่ำ ส่วนกองแบบ Active จะมีค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการที่ค่อนข้างสูงแต่ก็ไม่ใช่ทุกรายที่ชนะดัชนีชี้วัดได้ตลอด บางรายมีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Active แต่ผลประกอบการคล้าย Passive อาจเป็นเพราะค่าธรรมเนียมที่สูงหรือการลงทุนไม่เป็นไปตามคาดหรือกลยุทธ์แบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้ผลเนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปก็ได้ การลงทุนในกองทุนรวมก็ติดต่อกับบริษัทจัดการหรือตัวแทน การลงทุนใน ETF ก็ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

ก้าวที่ 6 ตรวจหากองทุนที่มีส่วนผสมการลงทุนตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ แทนที่จะซื้อกองทุนหลายๆ กองมาผสมเอง เราอาจจะมองหากองทุนรวมที่มีการจัดสรรเงินลงทุนอยู่แล้วซึ่งมีเสนอขายอยู่หลากหลายในตลาดแทนก็ได้ รวมถึงกองทุน RMF หรือ SSF ที่พี่งออกมาใหม่ ซึ่งก็อาจได้รับประโยชน์จากภาษีพ่วงด้วย

ก้าวที่ 7 เตรียมพร้อมสำหรับการลงทุน  มี 3 กลยุทธ์ 1) เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เช่น ในช่วงที่ราคาหุ้นในตลาดลดลง มูลค่าเงินลงทุนของเราก็ลดลงตามไปด้วย แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีถ้าเราเตรียมเงินใหม่ไว้บ้างเราก็จะได้ซื้อของในราคาถูกแทน 2) ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ทุกประเภท แม้ว่าราคาหุ้นอาจปรับปลดลงมากเช่นในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้หมายความว่าสินทรัพย์ทุกอย่างจะลดลงมากตามๆ กัน เงินสดในมือ ความสามารถในการหารายได้ ราคาบ้าน หรือ เงินชดเชยต่างๆ ก็ยังมีค่าอยู่ 3) มูลค่าตราสารทุนขึ้นกับปัจจัยพื้นฐาน แม้ว่าราคาหุ้นจะลดลงแต่บริษัทยังคงผลิตสินค้าที่มีคนกินคนใช้อยู่ และเมื่อตลาดตระหนักถึงมูลค่าที่แท้จริงราคาก็จะกลับมาเอง ดังนั้นความมั่นคงในการลงทุน (Stay Invest) ในสินทรัพย์ที่ได้จัดสรรไว้ดีแล้วโดยไม่วอกแวกไปตามภาวะตลาดจะทำให้เราไม่เกิดความผิดพลาดจากการซื้อขายสินทรัพย์ผิดจังหวะ (Market Timing)

ในท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าแนวทางการเริ่มต้นจัดสรรน้ำหนักการลงทุนอย่างง่ายนี้จะเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนมือใหม่ไม่มากก็น้อย