BF Economic Research
การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 1.76 ล้านราย ดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 1.48 ล้านราย ต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้น 4.79 ล้านรายในเดือนก่อน สะท้อนการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของตลาดแรงงาน
- การจ้างงานเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะภาคบริการ (1.72 ล้านราย vs. 4.28 ล้านรายเดือนก่อน) ยังคงนำโดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ได้แก่ การโรงแรมและพักผ่อน (5.92 แสนราย) ค้าปลีก (2.58 แสนราย) การให้บริการด้านสุขภาพและความช่วยเหลือทางสังคม (1.91 แสนราย) และการให้บริการทางธุรกิจ (1.70 แสนราย)
- ส่วนภาคการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (3.9 หมื่นราย vs. 5.15 แสนรายเดือนก่อน) ทั้งในภาคอุตสาหกรรม (2.6 หมื่นราย) และภาคก่อสร้าง (2.0 หมื่นราย)
- ด้านการจ้างงานภาครัฐเพิ่มขึ้น 3.01 แสนราย (vs. 5.4 หมื่นรายเดือนก่อน) จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในภาคการศึกษา ซึ่งเป็นฤดูกาล เนื่องจากสถานศึกษาใกล้จะถึงกำหนดเปิดเทอมแล้ว
- การจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นดีกว่าที่ตลาดคาดหนุนให้อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เดือน ก.ค. ปรับตัวลดลงเป็น 10.2% จาก 11.1% ในเดือนก่อน อยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับจุดสูงสุดในวิกฤตครั้งก่อนที่ 10.0%
- อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน (Participation Rate) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเป็น 61.4% จาก 61.5% ในเดือนก่อน
- อัตราค่าจ้างเฉลี่ย (Average Hourly Earnings) เดือน ก.ค. ชะลอตัวลงเล็กน้อยเป็น 4.8% YoY จาก 4.9% ในเดือนก่อน
- การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานได้ชะลอตัวลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.-มิ.ย. อีกทั้งระดับการจ้างงานยังต่ำกว่าเดือน ก.พ. ก่อนการระบาดของ COVID-19 อยู่ถึง 13 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ รายงานอัตราการว่างงานระบุว่าแรงงานส่วนใหญ่ (48%) ว่างงานมากว่า 15 สัปดาห์ หรือนับตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. ที่ COVID-19 เริ่มส่งผลกระทบ สะท้อนถึงภาพรวมของตลาดแรงงานที่ยังคงเปราะบาง
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนาม Executive Orders 4 ฉบับ เกี่ยวเนื่องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนี้
- ให้สวัสดิการว่างงานเพิ่มเติมที่อัตรา USD400/สัปดาห์ (ลดลงจากเดิม USD600/สัปดาห์ที่หมดอายุสิ้นเดือน ก.ค. 2020) สวัสดิการว่างงานดังกล่าวจะมาจากรัฐบาลกลาง (Federal Government) 75% (ราว USD300/สัปดาห์) ผ่านการใช้วงเงิน USD 44bn จากโครงการ Disaster Relief Fund และอีก 25% (ราว USD100/สัปดาห์) ที่เหลือจะมาจากรัฐบาลท้องถิ่น (State Government) ผ่านการใช้วงเงินเดิมที่เหลือจากโครงการ Coronavirus Relief Fund ที่ได้ออกไปในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบเดือน มี.ค. (วงเงินรวม USD 150bn)
- เลื่อนการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของ “ลูกจ้าง” นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.- 31 ธ.ค. 2020 ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกาศเลื่อนการจ่ายภาษีเงินเดือนในส่วนของนายจ้างจนถึงเดือน ธ.ค. 2020 ไปแล้วในเดือน มี.ค.
- เลื่อนการจ่ายคืนเงินกู้เพื่อการศึกษาและคิดดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวที่ 0% จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2020 (เดิมกำหนดสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.)
- ให้ความช่วยเหลือผู้เช่าที่อยู่อาศัยที่ค้ำประกันโดยหน่วยงานภาครัฐ (Federal Housing Finance Agency (FHFA))โดยปกป้องสิทธิจากการถูกยึดหรือถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัย เนื่องจากไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้บ้านได้ (โดยในเดือน มี.ค. รัฐบาลได้ประกาศให้ความคุ้มครองจนถึงวันที่ 24 ก.ค.) โดยที่ปธน ได้สั่งการให้Housing and Urban Development (HUD) Secretary ออกมาตรการที่สนับสนุนคำสั่งปธน นี้
โดยสรุป การตัดสินใจใช้ Executive Orders ของปธน. Trump เกิดขึ้นภายหลังจากที่สภาไม่สามารถตกลงกันได้ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่แม้จะเจรจากันมาหลายสัปดาห์แล้ว ท่ามกลางความขัดแย้งทั้งในส่วนของ วงเงิน (USD1.0trn ของวุฒิสภา vs. USD3.5trn ของสภาผู้แทนฯ) และรายละเอียดมาตรการต่างๆ ขณะที่การให้สวัสดิการว่างงานเพิ่มเติม (USD600/สัปดาห์) ได้หมดอายุลงเมื่อปลายเดือน ก.ค. และนับเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ตลาดตอบรับกับมาตรการนี้เพียงเล็กน้อยเนื่องด้วยมองว่าคำสั่ง ปธน อาจจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจในวงที่จำกัด Goldman Sachs มองว่าการให้สวัสดิการว่างงานเพิ่มเติมนั้นอาจจะเต็มวงเงินที่ ปธน กำหนดไว้ภายใน 1 เดือน และภายหลังจากการประกาศใช้ Executive Orders นาย Steven Mnuchin รมว.คลังสหรัฐฯ และนาง Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนฯ ได้ออกมาแสดงความเห็นร่วมกันเมื่อวานนี้ ที่จะรีบกลับมาหารือเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันต่ออีกครั้ง แต่ยังไม่ได้ระบุเวลาชัดเจน ตลาดมองว่าท้ายที่สุดแล้ว สภาคองเกรสจะต้องเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 4 ออกมาในที่สุด โดยเบื้องต้นตลาดมองว่ามาตรการระยะที่ 4 นี้จะมีขนาด 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ