Bridgewater Associates แนะลงทุนในทรัพย์สินจีนในโลกการเงินที่แบ่งขั้ว

Bridgewater Associates แนะลงทุนในทรัพย์สินจีนในโลกการเงินที่แบ่งขั้ว

โดย ทนง ขันทอง

Bridgewater Associates ซึ่งเป็นเฮ็ดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก แนะนำให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในพันธบัตรของจีนในโลกการเงินที่มีการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน

รายงานของบลูมเบิร์ก “Bridge Backs Chinese Assets In Polarized World”, 13/8/2020) อ้างความเห็นของ Karen Karniol-Tambour หัวหน้าสำนักวิจัยของ Bridgewater Associates ว่า ธนาคารกลางของประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความร่วมมือกันในการการันตีนโยบายดอกเบี้ยต่ำ เพื่อที่จะช่วยลดภาระของรัฐบาลในการกู้ยืมเงินและความร่วมมือทางการเงินและการคลังมีความจำเป็นเพื่อให้เงินที่ธนาคารกลางพิมพ์ออกมาเข้าไปอยู่ในงบประมาณทางการคลัง

Karniol-Tambour บอกว่า ในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำเกือบแตะ 0% และการพิมพ์เงินของธนาคารกลางเพื่อซื้อหนี้ของรัฐบาล การลงทุนพันธบัตรอาจจะมีประโยชน์น้อยลงในพอร์ตการลงทุน ในขณะที่ทองคำ และพันธบัตรที่ออกแบบเพื่อปกป้องเงินเฟ้อจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

ในขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมของการลงทุนมีการแบ่งตลาดของโลกออกเป็นส่วนๆ ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน

Karniol-Tambour ให้ความเห็นต่อไปว่า เนื่องจากมีแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นในแบ่งตลาด แรงกดดันให้บริษัทย้ายฐานผลิตกลับมาผลิตในบ้านตัวเอง แรงกดดันให้ทุกคนคิดให้รอบคอบว่า จะสามารถเคลื่อนย้ายสินค้า หรือข้าวของต่างๆ ข้ามชายแดนได้สะดวกต่อไปหรือไม่ หรือต่อไปอาจจะเกิดความขัดแย้งกันขึ้นมาอย่างกะทันหัน มันจะเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไปสำหรับนักลงทุนที่จะเลือกลงทุนเฉพาะอย่างเดียวใน 1 ใน 3 เสาหลักของโลก คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน

นโยบายของจีนเตรียมรับมือกับโครงสร้างที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น ภาวะดอกเบี้ย 0% และการแบ่งขั้วโลกออกเป็นส่วนๆ เพื่อที่จะสนับสนุนให้เงินทุนไหลเข้าตลาดการเงินของจีน

Karniol-Tambour พูดว่า ประการแรก สิ่งที่รัฐบาลจีนได้ทำ คือ การประกาศว่า จะไม่เดินตามแนวทางของประเทศที่พัฒนาแล้วในการปรับดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0% หรือจะไม่ดำเนินนโยบายที่ผิดแผกจากธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา โดยในขณะนี้ ยิลด์ของพันธบัตรรัฐบาลจีนอายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทนเกือบจะ 3% ซึ่งเป็นเรื่องที่โดดเด่นสำหรับจีนที่มีเรตติ้ง A+
ประการที่สอง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้จีนหันกลับมาพึ่งพาตลาดภายในมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องอุปสงค์และอุปทาน ทำให้หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค และธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นในเซ็คเตอร์อื่นๆ