มุมมองตลาดตราสารหนี้

มุมมองตลาดตราสารหนี้

BF Knowledge Center

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา   อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1-10 ปีปรับลดลง 0.01% ถึง 0.09%  เป็นผลมาจากเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยที่สูงถึง 63,370 ล้านบาท และผลการประมูลพันธบัตรอ้างอิงรุ่นอายุ 5 และ 10 ปีที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดีด้วยสัดส่วน Bid-to-Cover ที่สูงถึง 4.44 และ 3.87 เท่า   ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรช่วงอายุใกล้เคียงปรับตัวลดลงทันทีหลังการประมูล

อย่างไรก็ตาม   อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยกลับมาเร่งตัวอีกครั้งในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์จากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯในเดือนมกราคมที่ออกมาสูงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์     รวมทั้ง  สัญญาณการเร่งตัวของค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น 0.3%จากเดือนก่อน    ทำให้นักลงทุนกังวลต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อที่จะกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐฯเร่งกระบวนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดการณ์เดิม    จากปัจจัยกดดันดังกล่าวทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 2.85%  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี

สำหรับผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED)ในเดือนมกราคมยังมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25-1.50% พร้อมส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามเดิม และมีมุมมองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและตลาดแรงงานในระดับที่ดี        ด้านภาวะเงินเฟ้อ   คณะกรรมการฯประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯจะค่อยๆเร่งตัวขึ้นในปีนี้และขยับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ได้ในระยะต่อไป

ขณะที่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ของไทยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้   เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมเพียงพอต่อการช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและยังช่วยให้อัตราเงินเฟ้อสามารถขยับกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ในอนาคต

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย   กนง.คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนของการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัว    รวมทั้ง   การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวตามแรงสนับสนุนของภาครัฐ     ด้านการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวและแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม   เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐฯ   ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และกนง.ยังแสดงความกังวลต่อความผันผวนที่สูงขึ้นของค่าเงินบาทซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้

แนวโน้มตราสารหนี้ไทยในอนาคต คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะเคลื่อนไหวอย่างผันผวนมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักหลังตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรปออกมาดีกว่าคาดการณ์อย่างต่อเนื่อง    ทำให้ตลาดเริ่มกังวลว่า ธนาคารกลางอาจเร่งกระบวนการปรับลดการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อให้เข้าสู่ระดับปกติ(normalization)เร็วกว่าที่ประเมินไว้เดิม