โดย…ทนง ขันทอง
ตั้งแต่ปี 2018 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ได้ดำเนินนโยบายที่จะแยกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกจากเศรษฐกิจของจีนผ่านสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี เพื่อที่จะสกัดไม่ให้จีนล้ำหน้าทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพราะว่าเมื่อจีนมีความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ต่อไปในอนาคตจีนจะเป็นผู้กำหนดหรือสร้างมาตรฐานให้กับโลก ซึ่งจะทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกโดยปริยาย
ที่ผ่านมาโลกตะวันตกเป็นผู้วางกฎกติกาให้กับมาตรฐานของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการเงิน ระบบการค้าขาย การลงทุนและบริการ ระบบการผลิตอุตสาหกรรม ระบบพลังงาน ระบบบัญชี ระบบการศึกษา ระบบการแพทย์และสาธารณสุข ระบบการขนส่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเรือ หรือการบิน ระบบอินเทอร์เน็ต ฯลฯ
ยุทธศาสตร์แอนตี้จีนของทรัมป์และพรรครีพับลิกัน ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากพรรคเดโมแครท ถูกปล่อยออกมาชุดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีน การแบน 5G ของหัวเว่ย การแซงชันบริษัทเทคโนโลยีจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ การกล่าวหาว่าจีนปล่อยไวรัสให้ระบาดทั่วโลก การแบน TikTok และ WeChat การหนุนม็อบฮ่องกง และให้ท้ายชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ที่ซินเจียง การขู่ที่จะถอดถอนบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ การสร้างความตึงเครียดทางทหารที่ช่องแคบไต้หวัน และทะเลจีนใต้ ฯลฯ
รายการบอยคอทท์จีนยังคงออกมาเรื่อยๆ ล่าสุดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังพิจารณาว่าจะจับบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน Semiconductor Manufacturing International Corporation (SMIC) ให้อยู่ในEntry List หรือบัญชีดำ โดยบริษัทอเมริกันใดๆ ที่จะค้าขายกับSMIC ต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพานิชย์ของสหรัฐฯ ก่อน มาตรการกำลังถูกเตรียมการเพื่อที่จะสกัดไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตชิป ซึ่งเป็นชิ้นส่วนประกอบที่สำคัญในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมทางทหาร
เมื่อพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีการผลิตชิปแล้ว จีนยังคงต้องพึ่งพาไต้หวันและสหรัฐฯ ที่พัฒนาไปก้าวล้ำกว่า ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจีนจะสามารถพัฒนาการผลิตชิปเพื่อที่จะพึ่งพาตัวเองได้ ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า จีนต้องใช้เวลาถึงปี 2025 ตามยุทธศาสตร์ Made in China 2025 กว่าที่จะสามารถซัพพลายชิปได้ถึงระดับ 70% ของความต้องการในประเทศ แต่ความจริงแล้ว บริษัทเทคโนโลยีของจีนไม่ว่าจะเป็นบริษัท Sanan Optoelectronics ที่เอกชนเป็นเจ้าของ และบริษัท China Electronics Technology Group Corporation ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ ได้มีการวิจัยพัฒนาการผลิตเซมิคอนดั๊กเตอร์เข้าสู่เจนเนอเรชั่นที่ 3แล้ว โดยชิปสามารถปฎิบัติการได้ด้วยความถี่ที่สูง มีพลังที่สูงกว่า และสามารถทนต่อสิ่งแวดล้อมที่มีภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้
The Global Times ของจีนตีพิมพ์บทความ “Beijing ponders measures to offset US ‘decoupling’ attempt” (ุ6/9/2020) ที่น่าสนใจว่า การถูกสหรัฐฯ แซงชัน ทำให้จีนต้องเน้นการพึ่งพาตัวเอง ซึ่งได้กลายเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ตามแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 14 ระหว่างปี 2021 ถึงปี 2025 จีนจะมีการลงทุนอย่างมโหฬารในเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมท้ังสร้างผู้เชี่ยวชาญและมีความสามารถ เพื่อรองรับความเป็นผู้นำโลกทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
นอกจากการพึ่งพาตัวเองทางเทคโนโลยีแล้ว จีนยังเน้นการสร้างตลาดบริโภคภายในเพื่อรองรับการผลิต แทนที่จะพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากเหมือนในอดีต ตลาดผู้บริโภคของจีนที่มีประชากร 1,400 ล้านคน ทำให้จีนสามารถสร้างอุปสงค์ภายในประเทศได้ ความจริงแล้ว แนวโน้มของขยายตัวของเศรษฐกิจภายในของจีนดำเนินมาหลายปีแล้ว และจะมีความเด่นชัดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ในปี 2019 การส่งออกและการนำเข้าของจีนมีสัดส่วนเทียบเท่า 31% ของจีดีพี โดยลดลงจากอัตรา 64%ในปี 2006
บทความของ The Global Times รายงานต่อไปว่า เนื่องจากจีนมีตลาดภายในที่ใหญ่ที่สุดในโลกจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการลงทุน และการพัฒนาเทคโนโลยีไปพร้อมๆกัน ยกตัวอย่างเช่น ระบบรถไฟของจีนที่ได้มีการลงทุนมากมายอย่างต่อเนื่องจนทำให้จีนมีรถไฟความเร็วสูงที่ก้าวล้ำที่สุดในโลก ในปัจจุบันจีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่มีความยาวทั้งหมดรวมกัน 30,000 กิโลเมตร โดยเชื่อมโยง 460 เมืองของจีนเข้าด้วยกัน ส่วนหัวเว่ยมีการลงทุนมากมายเหมือนกัน โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาทำให้หัวเว่ยกลายเป็นผุ้นำโลกด้านเทคโนโลยีระบบ 5G ตลาดที่ใหญ่ของจีนสามารถรองรับธุรกิจของหัวเว่ยทำให้หัวเว่ยได้รับผลตอบแทนที่คุ้มกับการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา
บริษัทชั้นนำของจีน ไม่ว่าจะเป็นหัวเว่ย อาลีบาบา เทนเซ็นต์ เสี่ยวหมี่ Sanan Optoelectronics, CATL แบตเตอรี่ หรือ Hualong-1 ปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต่างก็เตรียมตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจีนล้ำหน้าด้าน 5G และเทคโนโลยีอื่นๆ จีนจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของโลกในอนาคต