พลิกวิกฤติ COVID-19 สู่การฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หนุนธุรกิจใส่ใจ ESG มากขึ้น ตอนที่ 1/2

พลิกวิกฤติ COVID-19 สู่การฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หนุนธุรกิจใส่ใจ ESG มากขึ้น ตอนที่ 1/2

โดย…ฐนิตา ตุมราศวิน

กองทุนบัวหลวง

มลพิษทางอากาศลดลง…อีกมุมหนึ่งของวิกฤติ COVID-19

เหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลกในแบบที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน โดยปัจจุบันจำนวนยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นทะลุ กว่า 20 ล้านคน และยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง ซึ่งการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาล หรือที่เรียกว่าล็อคดาวน์ โดยให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้านเพื่อลดการติดต่อสัมผัสกัน ทำให้โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทห้างร้านต่างๆ รวมไปถึงสถาบันการศึกษาปิดทำการ ในขณะที่การเดินทางทั่วโลกก็หยุดชะงักจากการประกาศปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ดี ในอีกแง่มุมหนึ่ง COVID-19 นับเป็นเสมือนตัวเร่งให้เทรนด์การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หรือกระแส Disruption เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด อีกทั้งเห็นภาพชัดขึ้นในหลายอุตสาหกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม จากพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นได้ชัดคือ ยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนที่ไม่เคยสั่งก็ได้หันมาลองสั่งในช่วงที่ต้องมีการรักษาระยะห่างทางสังคม นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate Change) เนื่องจาก หากมองย้อนไปในอดีตจะพบว่า เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใด ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มักจะปรับตัวลดลงเสมอ โดยจากข้อมูลของเว็บไซต์ Carbon Brief ระบุว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั่วโลกปล่อยก๊าซฯ ลดลงประมาณ 800 ล้านตัน และลดลง 450 ล้านตันในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008-2009 ประเด็นที่น่าสนใจคือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ส่งผลให้ทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นวิกฤติที่มีผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักเป็นวงกว้าง จากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ที่นำไปสู่การลดลงของปริมาณการใช้พลังงานโดยปริยาย เช่น อินเดียใช้พลังงานลดลงเกือบถึง 30% ในขณะที่ยุโรปใช้พลังงานลดลงประมาณ 17% โดยเฉลี่ย เป็นต้น โดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency – IEA) คาดว่า ทั่วโลกจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงราว 8% ในปี 2020

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงในช่วงล็อกดาวน์นั้น ย่อมส่งผลให้คุณภาพอากาศทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียมที่กลุ่มก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ในหลายประเทศลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่ต่างๆ รวมไปถึงค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่ลดลงเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังเผชิญมลพิษทางอากาศอย่างหนักก็สามารถกลับมามองเห็นเทือกเขาหิมาลัยได้ในระยะ 100 กิโลเมตรเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ซึ่งมลพิษทางอากาศนับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลก จนนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประชากรถึงราว 90% ของโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงเกินกว่ามาตรฐานที่ WHO กำหนด นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยของหลายสถาบันบ่งชี้ว่า มลพิษทางอากาศมีส่วนทำให้ความเสี่ยงเกี่ยวกับ COVID-19 มีมากกว่าปกติ อาทิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า มลพิษทางอากาศทำให้อัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 เพิ่มขึ้น ในขณะที่ศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (CREA) ระบุว่า มลพิษทางอากาศทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีมากขึ้น และเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคเรื้อรังที่จะเพิ่มความรุนแรงของ COVID-19 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การลดลงของระดับก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพียงแค่เหตุการณ์ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อทั่วโลกเริ่มทยอยประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เราจึงเห็นสัญญาณว่า ระดับการปล่อยมลพิษทางอากาศในหลายประเทศค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเข้าสู่ระดับปกติ แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ คือ ภาพตัวอย่างสภาวะโลกในอนาคตที่มีมลพิษลดลง หากทั่วโลกร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ภาครัฐชูนโยบายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพาเศรษฐกิจพ้นภาวะถดถอย

อันที่จริงแล้ว ความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในประชาคมโลก โดยเฉพาะในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหลายครั้งในการประชุมสหประชาชาติ จนในที่สุดนำไปสู่ข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ นับตั้งแต่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในปี 1992 พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี 1997 ไปจนถึงข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้วในปี 2016 โดยข้อตกลงปารีสนี้มีหัวใจหลักอยู่ที่การควบคุมให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2100 เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 2 องศาเซลเซียส นับจากระดับอุณหภูมิในยุคก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และจะพยายามให้เพิ่มขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเกือบทั้ง 200 ประเทศทั่วโลกต่างเห็นด้วยกับความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและได้ให้สัตยาบันกับข้อตกลงดังกล่าว รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละประเทศจะต้องอาศัยการผลักดันในระดับนโยบายภาครัฐเป็นสำคัญ โดยในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติ COVID-19 หลายประเทศออกมาตรการต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักต่อปัญหานี้ โดยเฉพาะยุโรปที่นับเป็นภูมิภาคที่พยายามแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังมาโดยตลอด ในเดือนธ.ค. 2019 อียูประกาศนโยบาย “European Green Deal” ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เน้นความยั่งยืนภายในปี 2050 โดยหวังแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้านภาคธุรกิจก็มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการเติบโตทางธุรกิจ โดยหวังจะเป็นแนวทางตัวอย่างให้แก่ประเทศอื่นในโลก ในขณะที่ประเทศไทยเอง กระแสรักษ์โลกก็มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากระดับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีการบรรจุยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความร่วมมือจากภาคเอกชนในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และการลดขยะเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ ที่เห็นเป็นรูปธรรมล่าสุด คือ นโยบายเลิกแจกถุงพลาสติกที่เริ่มนำร่องโดยกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งเมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา

วิกฤติ COVID-19 ในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่รัฐบาลจะผลักดันนโยบายต่างๆ เหล่านี้ต่อเนื่องให้เป็นแกนหลักของการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในธุรกิจสีเขียวรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้น เช่น การลงทุนในพลังงานทดแทน หรือการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น ทั้งนี้ จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดล่าสุดในเดือนมิ.ย. พบว่า คะแนนด้าน ESG ของบริษัทเอกชนในประเทศใดประเทศหนึ่งมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ กล่าวคือ ถ้าบริษัทเอกชนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ที่บริษัทเอกชนดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้น้อยกว่า ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดก่อนหน้านี้ในเดือนพ.ค. ที่สนับสนุนให้รัฐบาลออกมาตรการอุดหนุนธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิตภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง เนื่องจากจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า ข้อสรุปของงานวิจัยทั้งคู่เป็นการเน้นย้ำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการใช้นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใส่ใจสังคม รวมทั้งการกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีการนำแนวคิด ESG มากขึ้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน บางประเทศก็ประกาศใช้ “นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสีเขียว” หรือ “Green Recovery” แล้ว อาทิ ในอียู เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ (EU Recovery Fund) มูลค่ารวม 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤติ COVID-19 โดยเน้นการลงทุนในโครงการด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อมตามแนวทางของ Green Deal ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ด้านเกาหลีใต้ ในเดือนก.ค. เช่นเดียวกัน รัฐบาลประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์ฯ เพื่อกระตุ้นการสร้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมุ่งลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบาย Green New Deal โดยเฉพาะการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฮโดรเจน เป็นต้น

หมายเหตุ : *** ESG ประกอบด้วย Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัท