โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM
กองทุนบัวหลวง
ปัจจุบันคนรุ่นใหม่สนใจลงทุนในหุ้นกันมากขึ้น สังเกตได้จากพฤติกรรมการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพอร์ตหุ้น การเลือกนโยบายหุ้นในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ทั้งแบบลงทุนทั่วไปและลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี
สาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจลงทุนในหุ้น เนื่องจากเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นเป็นช่องทางในการต่อยอดเงิน สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีเอาชนะเงินเฟ้อได้ อีกทั้งการเข้าถึงข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น การทดลองลงทุนในโปรแกรมจำลอง ก็สามารถหาได้ไม่ยากบนโลกออนไลน์
น้ำหนักการลงทุนในหุ้นของคนรุ่นใหม่ ยังคงกระจุกตัวอยู่ในหุ้นไทยค่อนข้างมาก เพราะหุ้นไทยสามารถติดตามข่าวสารได้ง่าย มีช่องทางในการลงทุนให้เลือกมากมาย รวมถึงปัจจุบันการลงทุนในหุ้นไทยใช้เงินเริ่มต้นไม่มาก โดยหลายครั้งพบว่า การลงทุนในหุ้นไทยของคนรุ่นใหม่ไม่ได้เกิดจากการวางแผนแบบองค์รวม แต่เกิดจากความเคยชินในการลงทุนที่เลือกพิจารณาเป็นรายครั้งไป เช่น ต้องการเก็บเงินทุกเดือน เป้าหมายยังไม่ชัดเจน ก็เลือกลงทุนในหุ้นไทยเอาไว้ก่อน บริษัทให้เลือกนโยบายลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็เลือกลงทุนในหุ้นไทยเอาไว้ก่อน หรือจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมลดหย่อนภาษี ก็เลือกลงทุนในหุ้นไทยเอาไว้ก่อน ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะทัศนคติการลงทุนของคนรุ่นใหม่ที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง สามารถเห็นผลตอบแทนที่โดดเด่นระหว่างทาง แม้ว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินตอนนี้ แต่ก็ขอให้เห็นผลตอบแทนสูงๆ เอาไว้ก่อน จึงทำให้สัดส่วนการลงทุนของคนรุ่นใหม่เทไปที่หุ้น โดยหุ้นไทยก็เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่คนรุ่นใหม่เลือก เพราะมีความคุ้นเคยมาตั้งแต่แรกเริ่มเรียนรู้เรื่องการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่หุ้นไทยมีความผันผวน ผลตอบแทนไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง จนส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งโดยรวม ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ เพราะหันไปทางไหนก็ขาดทุนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นพอร์ตหุ้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมทั่วไป และกองทุนรวมลดหย่อนภาษี
ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ “กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่น” อย่างเช่น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเยอะจนเกินไป แต่ก็เข้าใจดีว่าคนรุ่นใหม่ยังไงก็ชื่นชอบการลงทุนในหุ้น อีกทั้งมีระยะเวลาลงทุนยาวนานเพราะอายุยังน้อย การลงทุนในหุ้นจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดูลงตัว
ด้วยเหตุนี้ จึงแนะนำให้คนรุ่นใหม่เลือกกระจายการลงทุนไปยัง “หุ้นต่างประเทศ” เพราะเป็นสินทรัพย์ประเภทหุ้นเช่นกัน แต่เป็นการกระจายความเสี่ยงในอีกรูปแบบหนึ่ง คือกระจายภูมิภาคการลงทุน เพราะในโลกของการลงทุนแต่ละประเทศก็จะมีความโดดเด่นในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป
การจัดสรรเงินลงทุนของคนรุ่นใหม่ ควรกำหนดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ตามหลักการก็คือ เป้าหมายที่สำคัญมากไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากไป แต่หาก
มีระยะเวลาลงทุนยาวนาน ก็อาจพิจารณาให้รับความเสี่ยงได้มากขึ้นได้ และนอกจากการพิจารณาความเสี่ยงของพอร์ตให้สอดคล้องกับเป้าหมายแล้ว ยังต้องดูภาพรวมของการลงทุนทั้งหมดด้วยว่ามีน้ำหนักเอียงไปให้สินทรัพย์ใด สินทรัพย์หนึ่งมากเกินไปหรือไม่ โดยอาจต้องพิจารณาพอร์ตทั้งหมดที่มีทั้งพอร์ตหุ้นรายตัว พอร์ตกองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ พอร์ตกองทุนรวมร่วมกัน และปรับสินทรัพย์การลงทุนในภาพรวมให้เหมาะสม
ในกรณีที่หุ้นไทยมีค่อนข้างมากจากพอร์ตหุ้นรายตัว พอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พอร์ตกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออมแบบพิเศษ (SSFX) ก็อยากแนะนำให้ปรับในส่วนของพอร์ตกองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund – RMF) ให้ลงทุนในหุ้นต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านภูมิภาค โดยสาเหตุที่แนะนำให้ปรับพอร์ตลงทุนกองทุนรวม RMF เพราะการลงทุนนี้มีเป้าหมายเพื่อการเกษียณ ซึ่งนับว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ต้องใช้เงินมาก และเป็นการลงทุนระยะยาว จึงเหมาะสมสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือก
นอกจากนี้ กองทุนรวม RMF มีนโยบายลงทุนที่หลากหลาย ทั้งในส่วนของสินทรัพย์ลงทุนและภูมิภาค ทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้ตลอดเวลา อย่างในช่วงนี้
เทรนด์การลงทุนที่น่าสนใจก็คือ การลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และปัญญาประดิษฐ์ จึงเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุนระยะยาว เพื่อสร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์การลงทุนที่ไม่สามารถหาได้ในประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการลงทุนในต่างประเทศ ผู้ลงทุนคนรุ่นใหม่ จึงอาจต้องใช้แรงกำลังในการศึกษาและติดตามข้อมูลมากขึ้น รวมถึงมีความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินด้วย