เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2018 รัฐบาลสิงคโปร์เผยงบประมาณ FY2018 จัดไว้ให้ขาดดุล 6 ร้อยล้านดอลลาร์สิงคโปร์ พลิกจากการเกินดุล 9.61 พันล้านดอลลาร์ใน FY2017 สืบเนื่องจากการขาดดุลการคลังที่ไม่รวมรายจ่ายที่เกี่ยวกับภาระหนี้ (Primary Deficit) จากรายได้ดำเนินงาน (Operating Revenue) ที่ลดลงเหลือ 7.27 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่รายจ่าย (Expenditure) เพิ่มขึ้นเป็น 8.00 หมื่นล้านดอลลาร์
รายได้: เม็ดเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินได้บุคคลยังคงไต่ขึ้น แต่รายได้ที่หดตัวลง มาจากส่วนสมทบของหน่วยงานราชการภายนอก (Statutory Boards’ Contribution) ที่ลดลงจาก 4.87 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เหลือเพียง 460 ล้านดอลลาร์
รายจ่าย: รายจ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 5.77 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (+2.8%) ระหว่างที่รายจ่ายพัฒนาประเทศอยู่ที่ 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์ (+25.4%) โดยหากจำแนกตามกระทรวง การใช้จ่ายป้องกันประเทศยังคงเป็นหมวดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (19% ของยอดใช้จ่ายรวม) ส่วนการใช้จ่ายทางการแพทย์ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 10.2 ล้านดอลลาร์ (13% ของยอดใช้จ่ายรวม) ใน FY 2018 จากจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มองออกไปข้างหน้า รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศทิศทางนโยบายเชิงการคลังออกมาด้วย มีใจความสำคัญหลายอย่างที่ตลาดให้ความสนใจ อาทิ:
- เงินอังเปาจากรัฐบาลรวม 700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 100-300 ดอลลาร์ต่อคน สำหรับผู้ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับรายได้ จากงบประมาณปีก่อนหน้าที่ออกมาดีกว่าที่คาดไว้
- เพิ่มภาษีสินค้าและบริการ (GST) ขึ้นจาก 7% เป็น 9% ในปีใดปีหนึ่งระหว่าง 2021-2025 ขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมของเศรษฐกิจในช่วงนั้น เพื่อเข้าจัดการรายจ่ายรัฐบาลที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ รัฐบาลจะเพิ่มขนาดเงินทุนสนับสนุนรูปแบบ GST Voucher ขึ้นเป็น 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จาก 800 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยด้วย
- เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยการขยาย Corporate Tax Rebate เป็น 40% บนเพดาน 15,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อบรรเทาภาระทางการเงินให้กับภาคธุรกิจ และยืดเวลาโครงการ Wage Credit Scheme ช่วยอุดหนุนการปรับขึ้นเงินเดือนพนังงานออกไปถึงปี 2020
- เก็บภาษีกับผู้ให้บริการที่มีฐานอยู่ในต่างประเทศ นับตั้งตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป ถึงแม้ว่าธุรกิจนั้นจะไม่มีเครือข่ายที่จับต้องได้ในสิงคโปร์ก็ตาม ครอบคลุมถึงบริการดูวิดีโอออนไลน์ และค่าธรรมเนียมการขายสินค้าบนมาร์เกตเพลส รวมไปถึงการนำเข้าบริการของผู้ประกอบการในสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นด้านบัญชี การตลาด หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อปิดช่องโหว่ภาษีทางดิจิทัล
- เพิ่มค่าอากรแสตมป์ผู้ซื้อ (Buyer’s Stamp Duty) ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย จาก 3% เป็น 4% ในสัดส่วนของมูลค่าที่ดินเกิน 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นไป โดยในส่วนที่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จะยังจูกจัดเก็บระหว่าง 1-3% อยู่
- เก็บภาษีคาร์บอน 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตัน สำหรับโรงงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา 25,000 ตันขึ้นไป บังคับใช้ตั้งแต่ 2019-2023 และอาจมีการปรับขึ้นอีกเป็น 10-15 ดอลลาร์ต่อตันภายในปี 2030