BF Economic Research
สรุปประเด็นที่น่าสนใจ
ก้าวเข้าสู่ 3 เดือนสุดท้ายของปี 2020 แล้ว มีประเด็นเกิดขึ้นมากมาย แต่ประเด็นสำคัญๆ จริงๆ มี 3 ประเด็น
- เศรษฐกิจ – อาจจะฟื้นตัวแต่ช้าลง
- นโยบายการเงิน-การคลัง – หากจะมีการกระตุ้นด้วย Policy Push คงไม่ได้กระตุ้นในระดับที่แรงเท่ากับก่อนหน้านี้
- การเมืองในสหรัฐฯ – ต้องติดตามเพราะทุกครั้งที่มีการดีเบต คะแนนเสียงจะมีการวิ่งว่า ใครจะเริ่มชอบใครมากกว่า
3 ประเด็นนี้พูดมาตั้งแต่ช่วงที่มีโควิด-19 ใหม่ๆ ซึ่งมีความเคลื่อนไหวใน 3 ประเด็นนี้ค่อนข้างมาก
จากกราฟที่เห็นนี้คือ ดัชนี PMI หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในหลายประเทศหลัก หากดูจากชาร์ทจะเห็นว่าตัวเลขดิ่งค่อนข้างแรงในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ก่อนที่จะกลับคืนมาตั้งแต่เดือน พ.ค.-มิ.ย. เป็นต้นไป
ณ ตอนนี้เราอยู่ในเครื่องชี้ล่าสุดเดือน ส.ค. เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่แผ่วแล้ว คือกลับขึ้นมาก่อนช่วงโควิด-19 ได้ แต่ยังเหลือช่องว่างอีกเล็กน้อยกว่าที่จะเข้าไปสู่ระดับการขยายตัวแบบเดิม บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจภายหลังจากที่ล็อคดาวน์เต็มรูปแบบในช่วงไตรมาสแรก ก็มีเรื่องของการค่อยๆ เปิดเมืองในเดือน เม.ย.
พอมีการเปิดเมืองก็มีเรื่อง Policy Push หรือการกระตุ้นทางเศรษฐกิจทางการเงินและการคลังอย่างสุดโต่ง เป็นแรงสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมา
จนมาถึงตอนนี้ สิ่งที่สังเกตเห็นคือ Policy Push เริ่มค่อนข้างนิ่งแล้ว เพราะการกระตุ้นในช่วงที่เกิดโควิด-19 ใหม่ๆ เป็นการกระตุ้นที่สุดโต่ง ซึ่งเรื่องนโยบายการคลังมีจุดที่ดำเนินไปได้ถึงจุดหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการเช่นนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะหนี้การคลังแต่ละประเทศเริ่มสูงสุดแล้ว ดังนั้น Policy Push ด้านนโยบายการคลังอาจจะเห็นได้ แต่ไม่มากเท่าก่อนหน้านี้
ขณะที่ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางหลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว หากจะให้ปรับลดลงอัตราดอกเบี้ยมากกว่านี้เป็นเรื่องยาก และธนาคารกลางหลายๆ แห่ง เริ่มส่งสัญญาณในการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมาว่า โจทย์ต่อไปนี้ขอโยนให้กับฝ่ายนโยบายการคลัง ดังนั้นในเชิงนโยบายหมายความว่า หากจะมีการกระตุ้นด้วย Policy Push คงไม่ได้กระตุ้นในระดับที่แรงเท่ากับก่อนหน้านี้
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแนวโน้มถัดไป ธนาคารกลางได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจของปี 2020-2021 ทุกท่านทราบดีว่าเศรษฐกิจปี 2020 คงติดลบแน่นอน สิ่งที่ธนาคารกลางทำคือ ปรับลดอัตราที่ติดลบให้น้อยลง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ในปี 2021 ที่เดิมเราคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะมีการกระโดดขึ้นไปในอัตราค่อนข้างสูง กลายเป็นว่าธนาคารกลางหลักๆ รวมถึงไทยด้วย มีการปรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นบวกแต่น้อยกว่าที่เคยมอง
แปลว่า การกระโดดขึ้นของเศรษฐกิจปี 2021 จะเป็นการปรับขึ้นจากฐานที่ต่ำ แต่ไม่สามารถปรับขึ้นไปเท่ากับปี 2019 แน่นอน มีการคาดการณ์จากหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารกลาง เริ่มกลับมาพูดแล้วว่า กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะก่อนโควิด-19 ก็อาจจะต้องรอไปถึงปี 2022-2023 เลย ภาพนี้เป็นภาพของการขยายตัว แต่อยู่ในอัตราที่ช้าลง เพราะหลายๆ ประเทศเปิดประเทศแล้วก็จริง เช่น ยุโรป ที่เปิดประเทศมาในช่วงเดือน มิ.ย. -ก.ค. แต่ว่าพอมาในรอบเดือน ก.ย. เริ่มมีกฎเกณฑ์ออกมาเพิ่มว่าจะมีการปิดบ้างบางส่วน หากเศรษฐกิจเปิดๆ ปิดๆ แบบนี้ จะทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นช้า
สำหรับอีกเรื่องที่จะมีคือ การเมืองเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ผู้ท้าชิงประธานาธิบดีทั้ง 2 ท่านมีการดีเบตกัน ซึ่งในการดีเบตค่อนข้างปั่นป่วน ถกเถียงกันจนแทบไม่รู้ว่าแต่ละคนมีประเด็นหลักคืออะไร เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีประเด็นที่ต้องติดตาม อาจมีความตกใจ หรือการเปลี่ยนแปลงในระหว่างที่จะมีการเลือกตั้งซึ่งจะเกิดขึ้นวันที่ 3 พ.ย. นี้
ก่อนที่จะไปถึงวันที่ 3 พ.ย. นี้ จะมีการแสดงวิสัยทัศน์อีก ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 2 ครั้ง ผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีอีก 1 ครั้ง ต้องติดตามเพราะทุกครั้งที่มีการดีเบต คะแนนเสียงจะมีการวิ่งว่า ใครจะเริ่มชอบใครมากกว่า
โดยรวมแล้วเมื่อ Policy Push อาจจะไม่ได้เห็น เศรษฐกิจอาจจะฟื้นตัวแต่ช้าลง ต้องรอไปอีกปี 2022-2023 เลย ทั้งยังมีเรื่องการเมืองอีก นักลงทุนอาจต้องทำใจถ้าเห็นตลาดผันผวน
ถ้าดูจากข้อมูลในอดีตไตรมาสที่ 3-4 ถ้าไม่มีเลือกตั้งมาเกี่ยวข้อง ก็จะมีเรื่่อง Market correction (ตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว) เช่นนี้ แต่พอมีเรื่องเลือกตั้งอาจจะมีเรื่องความผันผวน และแรงเหวี่ยงในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ตรงนี้เราระวังแต่ไม่ต้องกลัว ตราบใดก็ตามที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ มีการเฉลี่ยต้นทุน ถ้าเห็นการ correction ลงไปในระดับที่แรง สามารถแบ่งการลงทุนเข้ามาได้บ้างระดับนี้ แต่ต้องตระหนักด้วยว่า ช่วงนี้ตลาดจะเคลื่อนไหวอย่างผันผวน