โดย…ทนง ขันทอง
นโยบายการเงินของ US Federal Reserve หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำให้มหาเศรษฐียิ่งรวยขึ้น ส่วนผู้ที่มีรายได้น้อย หรือคนที่ไม่ได้ถือครองทรัพย์สินทางการเงินแทบที่จะไม่ได้อะไรเลยจากการฟื้นตัวของตลาดการเงินในช่วงนี้
เฟดไม่เคยเพิ่มปริมาณเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์การเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาที่มีการปั๊มเม็ดเงินอย่างมหาศาลประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลก็คือเกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบ “K” (K-shaped recover) หรือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาวะถดถอยที่ในอัตราที่ต่างกัน และขนาดไม่เท่ากันในส่วนต่างๆ
แต่เป็นที่ชัดเจนว่าผู้ที่มีเงินลงทุนในทรัพย์สินทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาเศรษฐียิ่งจะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น
ยูบีเอส และพีดับบลิวซี ได้ออกรายงานร่วมกันว่า ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปจำนวน 2,189 คน จากทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นรวมกันเป็น 10.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 8.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2017
การเพิ่มปริมาณเงินของธนาคารกลางมีผลทำให้ทรัพย์สินทางการเงิน โดยเฉพาะหุ้นมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องที่ล้นจะไหลของตลาดหุ้นเป็นสำคัญ ทำให้เศรษฐีที่รวยหุ้นอยู่แล้ว ยิ่งจะรวยขึ้นไปอีก
บลูมเบิร์ก ได้รายงานข้อมูลของเฟดที่ระบุว่า คนรวยอเมริกัน 1% ของประชากรทั้งหมดมีทรัพย์สินรวมกัน 34.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่คนจน 50% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 165 ล้านคน มีทรัพย์สินรวมกัน 2.08 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 2% ของความมั่งคั่งทั้งหมดของครอบครัวอเมริกัน
นอกจากนี้ Bloomberg Billionaires Index ยังได้รายงานต่อไปว่า มหาเศรษฐี 50 คนที่รวยที่สุดของสหรัฐฯ มีทรัพย์สินรวมกัน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นยอดที่เพิ่ม 339,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากต้นปี 2020
นายอีลอน มาสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เทสลา เป็นตัวอย่างที่ดีว่าทำไมเศรษฐีหุ้นยิ่งจะรวยขึ้น โดยในปีนี้ปีเดียว ความมั่งคั่งของเขาในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น 75,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 103,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กล่าวโดยสรุปแล้วมันนี่แมจิกของเฟดทำให้ตลาดหุ้นบูม และเศรษฐีหุ้นยิ่งรวยขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบสม่ำเสมอทุกภาคส่วน และไม่ได้ทำให้คนที่มีรายได้น้อย หรือครอบครัวคนจนที่ไม่ได้ถือครองทรัพย์สินทางการเงินมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น