ซีเอ็นบีซี รายงานว่า สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ออกรายงานฉบับใหม่ คาดการณ์ว่า การตอบสนองของคนทั่วโลกที่เกิดขึ้นกับโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงอนาคตของพลังงานในช่วงไม่กี่ปีถัดจากนี้ โดยประเด็นสำคัญที่สุดที่ IEA เน้นย้ำคือ วิกฤติไวรัสครั้งนี้มีผลต่อการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดอย่างไร
IEA เน้นย้ำว่า ในระหว่างที่การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากโลกต้องการไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่รวดเร็วและชัดเจนด้วย
“วิกฤติโควิด-19 เป็นสาเหตุนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายด้านเมื่อเทียบกับเหตุการณ์อื่นๆ ที่เคยเกิดในประวัติศาสตร์ เป็นวิกฤติที่ทำให้อนาคตของพลังงานโลกมีความไม่แน่นอนสูง โดย IEA เชื่อว่า นับจากนี้พลังงานหมุนเวียนจะมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นเวทีกลางสำคัญ อันเป็นผลมาจากได้รับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐบาล รวมถึงต้นทุนที่ลดลง หากพิจารณาบนพื้นฐานการวางนโยบายในวันนี้ ก็คาดว่าจะมีการสร้างสถิติใหม่ในการปรับใช้พลังงานหมุนเวียนทุกๆ ปีหลังจากปี 2022” Fatih Birol กรรมการบริหาร IEA กล่าว
นอกจากนี้ IEA ยังคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ถ่านหินจะไม่กลับไปสู่ระดับที่เคยเป็นก่อนมีไวรัสโคโรนา โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนต่ำกว่า 20% ของความต้องการใช้พลังงานในปี 2040 ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่วนน้ำมัน จะยังเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศหลักๆ อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น และความต้องการน่าจะเริ่มลดลงหลังจากปี 2030
ในระหว่างที่ผลกระทบโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไป IEA คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกจะลดลง 5% ในปี 2020 โดยการใช้น้ำมัน จะลดลง 8% การใช้ถ่านหินจะลดลง 7% ตามลำดับ ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะลดลง 3% ในปีนี้ เป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ก๊าซธรรมชาติก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในช่วงปี 1930 แต่ IEA ก็ยังเป็นแนวโน้มความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีถัดจากนี้ โดยมีแรงขับเคลื่อนมาจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ สำหรับประมาณการครั้งนี้มีการปรับปรุงลงมาจากเดือน เม.ย. เล็กน้อย เนื่องจากในช่วงเดือน เม.ย. IEA คาดการณ์ว่า ความต้องการพลังงานปีนี้จะลดลง 6%