มา Rebalancing ปรับสมดุลพอร์ตลงทุนกันไหม

โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

กองทุนบัวหลวง

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่สนใจลงทุนกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงในสินทรัพย์ต่างๆ และการลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยมักได้รับคำแนะนำให้จัดพอร์ตลงทุน (Asset Allocation) ด้วยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเภทกัน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ใด สินทรัพย์หนึ่งมากจนเกินไป ตามประโยคยอดฮิตที่ว่า “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตระกร้าเดียวกัน (Don’t put all eggs in one basket)”

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้นักลงทุนเริ่มจัดพอร์ตการลงทุนกันมากขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นักลงทุนส่วนใหญ่มักจัดพอร์ตการลงทุนแค่เพียงครั้งแรกเท่านั้น โดยเริ่มต้นจากกำหนดเป้าหมายในการลงทุน ประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตัวเอง จากนั้นก็จัดพอร์ตการลงทุน ด้วยการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทให้สอดคล้องกัน ยกตัวอย่างนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางและมีเป้าหมายลงทุนระยะยาว สัดส่วนการลงทุนที่แนะนำสำหรับนักลงทุนกลุ่มนี้คือ สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นหรือกองทุนหุ้นได้ประมาณ 50%

ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อจัดพอร์ตลงทุนไปแล้ว นักลงทุนส่วนใหญ่กลับมาดูความคืบหน้าของผลตอบแทน  แต่ไม่ทันได้สังเกตถึงมูลค่าของเงินที่ เติบโต หรือ ลดลง   จนทำให้สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทของพอร์ตลงทุนที่จัดไว้ก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงไป   ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ยกตัวอย่างนักลงทุนรับความเสี่ยงได้ปานกลาง  เริ่มต้นจัดพอร์ตลงทุนด้วยเงิน 100,000 บาท จึงกำหนดสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น 50% เป็นเงิน 50,000 บาท  และตราสารหนี้ 50% เป็นเงิน 50,000 บาท ต่อมาตลาดหุ้นเติบโตให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 10%  เงินลงทุน 50,000 บาท จะเติบโตเป็น 55,000 บาท ตลาดตราสารหนี้เติบโต 1% เงินลงทุน 50,000 บาท  จะเติบโตเป็น 50,500 บาท

สัดส่วนการลงทุนจาก 50-50  จะกลายเป็นหุ้น 52.13%  ตราสารหนี้ 47.87% ทำให้ภาพรวมของพอร์ตลงทุนนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ดังนั้น  สำหรับเป้าหมายการลงทุนระยะยาว  ผู้ลงทุนควรต้องพิจารณาปรับสมดุล หรือที่เรียกว่า Rebalancing โดยต้องคอยดูสินทรัพย์หลักในพอร์ตลงทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อกำหนดและควบคุมความเสี่ยง วิธีการนี้เรียกว่า SAA : Strategic Asset Allocation  คือพิจารณาขายคืนสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนเกินขึ้นมา  หรือเลือกซื้อเพิ่มในสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนลดลงไป  เพื่อให้พอร์ตลงทุนกลับสู่สมดุลตามเติม ซึ่งกรณีนี้ ก็อาจพิจารณาลดสัดส่วนกองทุนหุ้นด้วยการขายคืนตามมูลค่าที่เกินมาออกไป  หรือเลือกสับเปลี่ยนมูลค่าที่เกินมานี้ไปยังกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือไปซื้อกองทุนตราสารหนี้เพิ่ม เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนกลับมาเป็นเหมือนเดิม คงระดับความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน เพื่อไม่ให้ความเสี่ยงของพอร์ตสูงเกินกว่าที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

ทั้งนี้ การปรับสมดุลหรือ Rebalancing   ผู้ลงทุนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยการซื้อ-ขายสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ด้วยตัวเอง ซึ่งกรณีนี้ผู้ลงทุนต้องวางแผนการลงทุนให้ดี เพราะสภาพคล่องของสินทรัพย์แต่ละประเภทนั้นแตกต่างกัน ในทางตรงกันข้ามการลงทุนในกองทุนรวม แม้ว่าจะไม่สามารถเลือกสินทรัพย์แบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายตัวได้ แต่กองทุนรวมนั้นได้เปรียบเชิงสภาพคล่อง และทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย จึงเหมาะกับผู้ลงทุนทุกคน

โดยผู้ลงทุนสามารถจัดพอร์ตลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ด้วยการเลือกกองทุนที่ชอบ จากนั้นกำหนดสัดส่วนเงินลงทุนไปในแต่ละกองทุนที่หลากหลาย  และคอยติดตามทุกๆ ปี เพื่อทำการปรับสมดุลพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือหากไม่มีเวลาติดตามพอร์ตลงทุน ก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายแบบผสม ซึ่งปัจจุบันกองทุนบัวหลวงมีกองทุนผสมที่กำหนดสัดส่วนการลงทุนของสินทรัพย์ประเภทหุ้นเอาไว้ ชื่อว่ากองทุน B-MAPS : Bualuang Multi – Asset Portfolio Solutions  ซึ่งมีนโยบายลงทุนผสมผสานระหว่างหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ โดยจะกำหนดสัดส่วนของสินทรัพย์หลักคือ หุ้นไว้ที่ 25%, 55%, 100% ชื่อว่า B-MAPS25, B-MAPS55, B-MAPS100 จึงเหมาะกับนักลงทุนที่อาจไม่มีเวลาปรับสมดุลหรือ Rebalancing พอร์ต  เพื่อควบคุมความเสี่ยงจากการลงทุนได้ด้วยตัวเอง ก็อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนนี้แทน  แม้ว่าจะไม่ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุนหรือปรับสมดุลพอร์ตได้อย่างเป๊ะๆ แต่ด้วยนโยบายที่จำกัดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น 25%, 55%, 100%  ก็ช่วยให้พอควบคุมความเสี่ยงไม่ให้สูงเกินกว่าที่รับได้