ซีเอ็นบีซี รายงานว่า สัปดาห์หน้าสหรัฐฯ จะเผยแพร่ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยอาจจะมีการสะท้อนตัวเลขการเติบโตที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่อาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 30%
ในขณะที่เวลานี้กำลังอยู่ในช่วงกลางของการแพร่ระบาด รวมถึงเศรษฐกิจที่ถอถอย และอัตราการว่างงาน 12.5 ล้านคน
ทั้งนี้ ตัวเลขจีดีพีจะเผยแพร่ในวันที่ 29 ต.ค. ซึ่งเป็นเวลาเพียง 5 วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
“โดยรวมแล้วตัวเลขที่ออกมา มีความหมายน้อยมาก และคงจะช่วยทรัมป์ได้แค่เล็กน้อยเท่านั้น” Steve Blitz หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ ของ ทีเอส ลอมบาร์ด กล่าว
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยแพร่รายงานจีดีพี โดยเป็นตัวเลขที่เปรียบเทียบการเติบโตแบบไตรมาสต่อไตรมาส ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะบอกว่า การคาดการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาแอตแลนต้า จะมองจีดีพีเติบโต 35% ในเมื่อฐานที่ใช้คำนวณอยู่ ลดลงถึง 31.4% ในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากสหรัฐฯ มีการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อป้องกันไวรัสแพร่ระบาด
เฟดประมาณการว่า จีดีพีสหรัฐฯ ปีนี้จะลดลง 3.7% ซึ่งเป็นตัวเลขลดลงมากที่สุดในรอบการลดลง 1 ปี นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ปี 2021 คาดว่า จีดีพีจะเติบโต 4% ซึ่งก็จะเป็นการเติบโตมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000
“ถ้าดูตามรายงาน จีดีพีไตรมาสที่ 3 อาจจะดูเหมือนแข็งแกร่ง แต่เราคิดว่ามันอำพรางจุดอ่อนบางอย่างที่ยังมีอยู่ เราจะพบว่าบางอุตสาหกรรมยังคงต้องดิ้นรนอยู่ ยังมีบางส่วนของเศรษฐกิจที่เสียหายอย่างหนัก” Deepak Puri ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของอเมริกา ดอยซ์แบงก์ เวลธ์ แมเนจเมนท์ กล่าว
ในมุมมองของนักลงทุน เขา กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของอนาคต รวมถึงเรื่องการเมือง เป็นเหตุผลที่ทำให้ดอยซ์ยังคงลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบ และโครงสร้างภาษี ในกรณีที่เดโมแครตกวาดเก้าอี้ในสภาได้ ทำให้ต้องระมัดระวัง ส่วนในทางกลับกันคาดว่าการใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นประโยชน์ต่อไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งนี้ เมื่อผลตอบแทนแต่ละอย่างมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องคัดเลือกเฉพาะเจาะจงรายอุตสาหกรรม