โดย…ปัญญพัฒน์ ประคุณหังสิต
กองทุนบัวหลวง
พลังงานลมถือเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมดและไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง อีกทั้งยังเป็นพลังงานสะอาดที่สามารถใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ โดยไม่ปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม จากข้อมูลของ Global Wind Energy Council (GWEC) รายงานว่า ในปี 2019 ทั่วโลกมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมอยู่ที่ 651 GW หรือเพิ่มขึ้นกว่า 60 GW จากปีก่อน และมีสัดส่วนเป็น 25% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมกว่า 95% ยังเกิดจากฟาร์มกังหันลมบนผืนแผ่นดินเป็นหลัก ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งกลับมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งที่มีศักยภาพมากกว่า ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งมีข้อดีหลายประการ เช่น พื้นที่นอกชายฝั่งจะไม่มีสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางเส้นทางลม ความแรงของลมนอกชายฝั่งที่มากกว่า และพื้นที่กว้างขวางสามารถติดตั้งกังหันลมได้จำนวนมาก เป็นต้น โดยทวีปยุโรปถือเป็นผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งด้วยกำลังการผลิตรวม 21 GW คิดเป็นสัดส่วน 90% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งทั่วโลก โดยฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน คือ โครงการ Hornsea1 ที่ประเทศอังกฤษมีกำลังการผลิตถึง 1.2 GW นอกจากนี้ อังกฤษยังมีการลงทุนในโครงการฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งแห่งใหม่คือ โครงการ Dogger Bank Wind Farms ที่เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะมีกำลังการผลิตรวม 3.6 GW สามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าในประเทศอังกฤษได้ถึง 4.5 ล้านครัวเรือน ขณะที่ทวีปเอเชียมีเพียงประเทศจีนที่ลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยติดตั้งฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งถึง 2.4 GW ในปี 2019 ถือเป็นประเทศที่เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งที่มากสุดในโลกของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งของทวีปเอเชียเติบโตช้า และยังไม่เป็นที่นิยมมากนักมาจากการเกิดพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีความถี่และรุนแรงกว่าทะเลแถบทวีปยุโรป โดยในปี 2019 มีพายุมากกว่า 20 ลูกที่เกิดขึ้นในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก และในจำนวนนี้เป็นพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ (Super Storm) ถึง 4 ลูก ซึ่งกังหันลมสำหรับผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่สามารถทนทานต่อความเร็วลมในช่วง 20-30 m/s เท่านั้น ขณะที่พายุไต้ฝุ่นจะมีความเร็วเกินกว่า 35 m/s ขึ้นไป และอาจมีความเร็วสูงสุดถึง 70 m/s ในกรณีที่เป็นพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ ซึ่งความเร็วลมที่เกินกำหนดจะสร้างความเสียหายต่อกังหันลมและทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการซ่อมแซม
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตกังหันลมชั้นนำ อย่าง MHI Vestas, Siemens Gamesa, Orsted และ GE ได้พัฒนากังหันลมที่สามารถทนทานต่อความเร็วลมระดับพายุได้ ทำให้มีแนวโน้มที่ประเทศในทวีปเอเชียจะเริ่มลงทุนในกังหันลมนอกชายฝั่งมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญของฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง อีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนากังหันลมแบบทุ่นลอย ที่จะสามารถติดตั้งได้ในทะเลที่มีความลึกเกินกว่า 60 เมตรที่การติดตั้งฟาร์มกังหันนอกชายฝั่งแบบอยู่กับที่จะไม่เหมาะสม เนื่องจากมีต้นทุนการติดตั้งที่สูงเกินไป แม้ว่า ในปัจจุบันต้นทุนการผลิตกังหันลมแบบทุ่นลอยจะยังอยู่ในระดับสูงถึง 180-200 ยูโรต่อ MWh ยังไม่เหมาะสำหรับการลงทุนในเชิงพาณิชย์ แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ต้นทุนจะลดลงเหลือ 80-100 ยูโรต่อ MWh ซึ่งเป็นระดับที่สามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ และคาดว่าต้นทุนจะลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกับกังหันลมนอกชายฝั่งแบบอยู่กับที่ได้ภายในปี 2030 และจะทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดด
ทั้งนี้ เทรนด์ความต้องการใช้พลังงานสะอาดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและไม่ทำร้ายโลก ถือเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคต ขณะที่นวัตกรรมใหม่และการพัฒนาทางเทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น จะมีส่วนช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมสามารถเติบโตได้อย่างดี โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งที่เป็นตัวเร่งสำคัญในระยะต่อไป โดย GWEC ประเมินว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งของทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 205 GW ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า