สรุปประเด็นสำคัญ
- ในเดือนพฤศจิกายนนี้ กองทุน B-FUTURE ได้จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยในอัตราหน่วยละ 0.25 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 4 ในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน และคิดเป็นเงินปันผลรวมทั้งสิ้นหน่วยละ 0.91 บาท (จัดตั้งวันที่ 27 กรกฎาคม 2561)
- B-FUTURE เน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมใหม่ รวมถึงการบริโภคที่เปลี่ยนไปในอนาคต ณ 30 กันยายน 2563 B-FUTURE ลงทุนในกองทุนต่างประเทศ 3 กองทุน คือ Allianz Global Artificial Intelligence 46.54% Fidelity Fund – China Consumer Fund 23.07% และ Wellington FinTech Fund 7.92% และมีการลงทุนตรงในหลักทรัพย์ 14.43%
- กองทุน Allianz Global Artificial Intelligence : ในช่วงที่ผ่านมามีแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ และเริ่มมีเงินลงทุนในหุ้นกลุ่มคุณค่า (Value Stocks) เช่น สถาบันการเงินและพลังงานมากขึ้น ผู้จัดการกองทุนขายหุ้นบางตัวที่อยู่ในกลุ่ม Software เพราะเห็นว่าราคาปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงแล้ว และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่ม AI Enabled Industries ในหุ้นที่ราคาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
- กองทุน Fidelity Funds – China Consumer Fund : ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นตามเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจนอยู่ในระดับขยายตัวจากก่อนการแพร่ระบาดแล้ว ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองบวกต่อกลุ่มอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะบริษัทสัญชาติจีน เพราะการบริโภคของชาวจีนมีความนิยมแบรนด์สัญชาติจีนมากขึ้น ประกอบกับแบรนด์จีนเองมีการพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการลูกค้า และพัฒนาช่องทางการขายให้เข้าถึงลูกค้าโดยตรง ราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ
กลยุทธ์การลงทุนและมุมมองของผู้จัดการกองทุน
กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเพื่อคนรุ่นใหม่ (B-FUTURE) เน้นลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศของบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการบริโภคในอนาคต ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และหรือนวัตกรรมใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับแนวโน้มการบริโภค การดำเนินธุรกิจ และเศรษฐกิจในอนาคต
สัดส่วนการลงทุนของกองทุน B-FUTURE ณ 31 ตุลาคม 2563
รายละเอียดและมุมมองของผู้จัดการกองทุน ดังนี้
Allianz Global Artificial Intelligence Fund
วัตถุประสงค์: เน้นลงทุนในบริษัทที่มีพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของปัญญาประดิษฐ์ (AI Infrastructure) แอปพลิเคชัน หรือ software สำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI Application) และธุรกิจที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อพัฒนาด้านการผลิตหรือการให้บริการ (AI-enabled Industries)
มุมมองการลงทุนของผู้จัดการกองทุน Allianz Global Artificial Intelligence
- หลังจากการแพร่ระบาดในช่วงต้นปี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึงเดือนสิงหาคม และปรับตัวลดลงในเดือนกันยายน เพราะกังวลการแพร่ระบาดรอบสอง และปัจจัยจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีผลการดำเนินงานโดดเด่นอย่างมากถูกขายทำกำไรจากนักลงทุน โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ FAANG (Facebook, Amazon, Apple, Netflix และ Google) การเปิดเมืองถือเป็นปัจจัยเชิงลบกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เพราะการทำงานที่บ้าน (Work-from-home) ลดน้อยลง และเริ่มมีเงินลงทุนในหุ้นกลุ่มคุณค่า (Value Stocks) เช่น สถาบันการเงิน และ พลังงาน มากขึ้น เนื่องจากการผ่อนคลายล็อคดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ กลับมาสู่ภาวะปกติมากขึ้น
- การปรับพอร์ตในไตรมาสที่ผ่านมา
- ผู้จัดการกองทุนขายหุ้นบางตัวที่อยู่ในกลุ่ม AI Applications ที่เกี่ยวกับ Software เพราะเห็นว่าราคาปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงแล้ว และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่ม AI Enabled Industries ในหุ้นที่ราคาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
- สำหรับกลุ่ม Semiconductor ที่ผู้จัดการกองทุนปรับน้ำหนักลงในช่วงต้นปีเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบจากการหยุดการผลิตที่จีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากช่วงไตรมาสแรกจนถึงไตรมาสที่สอง หุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงมากนั้น ผู้จัดการกองทุนเริ่มเพิ่มน้ำหนักการลงทุนตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา เนื่องจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และราคาหุ้นมีความน่าสนใจมากขึ้น
- ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองบวกอย่างมากกับกลุ่ม AI Enable Industries หรือบริษัทที่ใช้ AI ในการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งจะทำให้มี Demand ที่ต่อเนื่องและแข็งแกร่ง ตัวอย่างเช่น Tesla (น้ำหนักการลงทุน 6.4%) Roku ทำธุรกิจ TV Streaming ผลิตอุปกรณ์เชื่อมต่อกับโทรทัศน์เพื่อให้เป็น Smart TV ที่มีประสิทธิภาพสูงในตลาดและมีฐานลูกค้าแข็งแกร่ง (น้ำหนักการลงทุน 5.3%) เป็นต้น
น้ำหนักการลงทุนแบ่งตามประเภทอุตสาหกรรม
- มุมมองในอนาคต ผู้จัดการกองทุนมองว่าต่อจากนี้เป็นช่วงฟื้นตัวจากการแพร่ระบาด ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการทำให้เห็นภาพการเมืองสหรัฐฯ ที่ชัดเจนขึ้น แม้ว่าการฟื้นตัวจะมีแนวโน้มที่ดีแต่ยังคงต้องระมัดระวังความผันผวนที่เกิดจากความไม่แน่นอนของจำนวนผู้ติดเชื้อ การพัฒนาวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจจะลดปริมาณลงจากช่วงแรก ซึ่งตลาดหุ้นได้รับรู้ปัจจัยเหล่านี้ไปบ้างแล้ว แม้ว่าหุ้นกลุ่ม AI จะได้รับประโยชน์อย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่มีบางกิจการที่ได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมากจากการแพร่ระบาด ผู้จัดการกองทุนจึงคัดสรรหุ้นด้วยความระมัดระวัง และพิจารณาถึงความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนเป็นสำคัญ
ผลการดำเนินงานของกองทุน Allianz Global Artificial Intelligence
Fidelity Funds – China Consumer Fund
วัตถุประสงค์: เน้นลงทุนในการหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ของจีน (New China) เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคในจีน เป็นต้น
มุมมองการลงทุนของผู้จัดการกองทุน Fidelity Funds – China Consumer Fund
- ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นตามเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจนอยู่ในระดับขยายตัวจากก่อนการแพร่ระบาดแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นทั่วโลกส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในช่วงการฟื้นตัว ปัจจัยหลักมาจากภาคการผลิตที่กลับสู่สภาวะปกติ ภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้น จากการผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและเล็กให้มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงเพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤตได้ นอกจากนี้รัฐบาลจีนให้สัญญานว่าจะยังคงใช้นโยบายทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หุ้นกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดี ได้แก่ กลุ่มการบริโภค กลุ่มวัสดุอุปกรณ์ และกลุ่มเทคโนโลยี ในขณะที่กลุ่มที่ผลประกอบการไม่ดีนัก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มการเงิน
- การปรับพอร์ตในไตรมาสที่ผ่านมา
- ผู้จัดการกองทุนลงทุนในหุ้นที่เสนอขายครั้งแรก (IPO) คือ KE Holdings ธุรกิจทำแพลตฟอร์มนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ มีอำนาจในการกำหนดราคาได้สูง, Smoore International ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกซึ่งเป็นผู้นำทั้งด้านการออกแบบและเทคโนโลยีที่ใช้ มีฐานลูกค้าแข็งแกร่ง และNongfu Spring ผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งราคาหุ้นทั้งสามบริษัทปรับตัวขึ้นพอสมควรหลังจากเข้าซื้อขายในตลาด และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนดีกว่าเกณฑ์เทียบวัด
- ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองบวกต่อกลุ่มอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะบริษัทสัญชาติจีน เพราะการบริโภคของชาวจีนมีความนิยมแบรด์สัญชาติจีนมากขึ้น ประกอบกับแบรนด์จีนเองมีการพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการลูกค้า และพัฒนาช่องทางการขายให้เข้าถึงลูกค้าโดยตรง ซึ่งราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยการหลีกเลี่ยงหุ้นธนาคารเพราะมองว่าแนวโน้มธนาคารไม่สดใสนัก แต่มีมุมมองบวกต่อบริษัทประกันที่จะได้ประโยชน์จากการบริหารความมั่งคั่งครบวงจร (Wealth Management)
- มุมมองในอนาคต การบริโภคยุคใหม่ของจีนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยปัจจัยการเติบโตของสังคมเมือง และการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการจับจ่ายใช้สอย และมีแรงหนุนอย่างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะด้าน e-commerce ระบบการชำระเงิน ที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว เข้าถึงผู้บริโภค ที่นำหน้าประเทศตะวันตกไปแล้ว ทำให้การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของจีนในยุคใหม่มีแนวโน้มเติบโตที่ดีในอนาคต
ผลการดำเนินงานกองทุน Fidelity Funds – China Consumer Fund
สัดส่วนการลงทุนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมของกองทุน Fidelity Funds – China Consumer Fund
การลงทุนในหุ้นรายตัว และอื่นๆ
สำหรับส่วนที่เป็นการลงทุนตรงในหลักทรัพย์ ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองเชิงบวกกับกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะพิจารณาตั้งแต่บริษัทต้นน้ำจนถึงบริษัทปลายน้ำที่ผลิตสินค้าและบริการ เช่น บริษัท R&D ด้านเทคโนโลยี และ Cloud System เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองบวกกับธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (FINTECH) ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก เพราะตอนนี้สถาบันการเงินและผู้บริโภคอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการใช้เทคโนโลยีในทำธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น ในอนาคตผู้บริโภคส่วนใหญ่จะปรับตัวมาใช้บริการทางการเงินและธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านออนไลน์มากขึ้น สถาบันการเงินก็จะต้องลงทุนกับแพลตฟอร์มการให้บริการ และโครงสร้างระบบงานหลักอีกมาก ประกอบกับราคาหุ้นกลุ่มนี้มีลักษณะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่หวือหวามากนักเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีกลุ่มอื่น การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้จึงเป็นการรักษาเสถียรภาพของผลตอบแทนพอร์ตการลงทุนได้อีกด้วย โดยผู้จัดการกองทุนลงทุน Wellington Fintech Fund สัดส่วนประมาณ 7.92%
ผลการดำเนินงานของกองทุน B-FUTURE (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2563)
ประวัติการจ่ายเงินปันผลกองทุน B-FUTURE
ผลการดำเนินงานของกองทุน B-FUTURESSF (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2563)