เว็บไซต์สภาเศรษฐกิจโลก (weforum.org) เสนอรายงานความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและการตอบสนองในเอเชีย โดยระบุว่า เอเชียมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงทางกายภาพจากสภาพอากาศมากกว่าจุดอื่นในโลก หากไม่ปรับตัวหรือบรรเทาปัญหา โดยคาดว่า ภายในปี 2050 ประชากรเอเชีย 600-1,000 ล้านคน จะอยู่อาศัยในพื้นที่ที่น่าจะเจอคลื่นความร้อนที่ร้ายแรง จากอัตราทั่วโลกอยู่ที่ 700-1,200 ล้านคน สะท้อนว่า ประชากรเอเชียคือคนส่วนใหญ่ที่เผชิญคลื่นความร้อน
ทั้งนี้ เอเชียมีความน่าจะเป็นที่จะต้องเผชิญคลื่นความร้อนที่ร้ายแรงอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทศวรรษ โดยคาดว่าภายในปี 2050 เอเชียจะต้องสูญเสียรายได้ 2.8-4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เนื่องจากความเสี่ยงที่มาจากประสิทธิภาพการใช้เวลาทำงานกลางแจ้งที่ต้องสูญเสียไปเพราะความร้อนและความชื้นที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ร่างกายของมนุษย์จะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้นและต้องการพักบ่อยครั้งขึ้น
สำหรับจีดีพีของเอเชีย เผชิญความเสี่ยง 2 ใน 3 ของจีดีพีทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบ และคาดว่าเม็ดเงิน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในตลาดหุ้นเอเชีย จะได้รับความเสียหายภายในปี 2050 ซึ่งคิดเป็น 75% ของผลกระทบทั่วโลก
แม้เอเชียมีโอกากสรับผลกระทบจากความเสี่ยงสภาพอากาศสูงขึ้น แต่ว่ากลุ่มประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน โดยในรายงานแบ่งประเทศเอเชียเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก ฟรอนเทียร์ เอเชีย ประกอบด้วย บังคลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน จะเผชิญความร้อนและความชื้นสูงขึ้นมาก จึงกระทบความสามารถการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจะมีผลลบมากที่สุดกับผลผลิตทางการเกษตรในกลุ่มนี้ กลุ่มที่ 2 อิมเมอร์จิ้น เอเชีย ได้แก่ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเผชิญความร้อนและความชื้นเพิ่มขึ้นชัดเจนภายในปี 2050 แต่น้อยกว่าฟรอนเทียร์ เอเชีย ความสามารถการทำงานของคนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการทำงานกลางแจ้งและใช้แรงงานมาก
กลุ่มที่ 3 แอดวานซ์ เอเชีย ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ จะได้รับผลกระทบสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงน้อยกว่ากลุ่มอื่น และได้ประโยชน์ในระยะสั้นในภาคเกษตร แต่บางประเทศในกลุ่มจะได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำและความแห้งแล้ง บางประเทศจะเผชิญพายุไต้ฝุ่นรุนแรงขึ้น กลุ่มที่ 4 จีน ซึ่งในประเทศมีพื้นที่กว้างขวางและมีสภาพภูมิอากาศแตกต่างหลากหลาย จะเผชิญกับอากาศร้อนขึ้น แต่จะได้ประโยชน์ในเชิงผลผลิตการเกษตร ขณะที่ความเสี่ยงเชิงโครงสร้างพื้นฐานแลแะห่วงโซ่อุปทานจะเพิ่มขึ้น จากฝนตกหนักและพายุ ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญ เพราะจีนมีความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและโลก