โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM
กองทุนบัวหลวง
ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เชื่อว่านักลงทุนหลายคนต้องประสบกับการขาดทุน เนื่องจากในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของหุ้นไทยค่อยๆ ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงทำให้นักลงทุนรายใหม่สนใจเข้ามาลงทุนกันมากขึ้น แต่ก็เหมือนสวรรค์แกล้ง ลงทุนไปได้ไม่นานก็เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้ทั่วโลกต้องปิดล็อคการเดินทางระหว่างกัน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคเศรษฐกิจไทย เนื่องจากตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทยคือ ภาคบริการและการท่องเที่ยว จึงคาดการณ์ว่าภาพรวมของ GDP ไทยในปี 2563 นี้ น่าจะติดลบอยู่ราว 7% โดยภาพรวมของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งปี 2563 จากสถิติของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดัชนีปิดตลาด 1,449.35 จุด ลดลง 8.26% จากสิ้นปี 2562 และพบว่า นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิ 1,238.29 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนในประเทศมีสถานะขายสุทธิ 2,283.40 ล้านบาท
คำถามที่อยู่ในใจของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่กำลังขาดทุนหุ้นไทยอยู่ในตอนนี้ คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า “เราควรไปต่อ หรือพอแค่นี้?” คือควรทยอยลงทุนในหุ้นไทยต่อไป เพื่อถัวเฉลี่ยราคาต้นทุนที่สูง เนื่องจากในช่วงที่ 2–3 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นไทยหลายตัวค่อนข้างสูง จึงอาจทำให้หลายคนอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ติดดอย” หรือว่าจะพอแค่นี้คือ ขายคืนเพื่อเอาเงินสดออกมา หรือโยกย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นดีกว่า
ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ขอแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะนักลงทุนที่พอมีประสบการณ์มาบ้าง และมีโอกาสได้ศึกษา “วิกฤติเศรษฐกิจ” จากนักลงทุนรุ่นเก่าทำให้ทราบว่า ประเทศไทยเคยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้ง ซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา การชะลอตัวของเศรษฐกิจโซนยุโรป รวมถึงความไม่สงบเรียบร้อยทางการเมือง เหตุการณ์ต่างๆ นี้ได้กระทบต่อการลงทุนในหุ้นไทยทั้งนั้น โดยเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดและเป็นตำนานตลอดไปนั่นคือ ต้มยำกุ้ง ความรุนแรงระดับตำนานที่ว่านี้ก็คือ สถาบันการเงินหลายสิบแห่งต้องปิดตัวลง ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ฯ จากต้นปี 1,753 จุด ปรับตัวลดลงในช่วงกันยายนของปีนั้นเหลือ 207.31 จุด (ลดลงกว่า 85%)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ก็ยังถือว่าห่างไกลกันอยู่มาก แม้ว่าจะมีตัวเลขดัชนีตลาดหุ้นไทยที่แตะ 1,700 จุด คล้ายกับเหตุการณ์ในอดีต จนอาจทำให้นักลงทุนมีความกังวลเกรงว่าประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นซ้ำรอย แต่ด้วยความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินและภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจการด้วยความระมัดระวัง จึงทำให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากได้รับข่าวดีเรื่องการผลิตวัคซีน
ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นไทย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ติดดอย ขอให้ใช้เวลาในช่วงนี้ ทบทวนเป้าหมายในการลงทุน ถ้าเป้าหมายในการลงทุนมีระยะยาวตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป การลงทุนในหุ้นก็ยังเป็นทางเลือกที่ดี เพราะภาพรวมของตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจและมีโอกาสเติบโตได้อีก เพียงแต่ต้องเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี การดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับเทรนด์ในอนาคต และอาจพิจารณาเพิ่มน้ำหนักในการลงทุนหุ้น ESG คือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจและให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม(Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Good Governance) เพราะในช่วงโควิด-19 บริษัทกลุ่มนี้จะมีการบริหารจัดการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) หรือการให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) ส่งผลให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขั้นพังทลาย
สำหรับนักลงทุนที่ติดดอย และปรารถนาที่จะลงจากดอยได้ไวกว่าคนอื่น ก็อาจใช้ช่วงจังหวะนี้ทยอยลงทุนเพิ่มเติม เพื่อเฉลี่ยต้นทุนราคาให้ต่ำลง แต่หากไม่มีเงินลงทุนเพิ่มแล้ว และพิจารณาแล้วว่า หุ้นเดิมน่าจะไปต่อไม่ไหวหรืออาจจะฟื้นตัวกลับมาได้ช้า ก็อาจต้องพิจารณาขายคืนหุ้นที่ถือไว้ (Cut Loss) และย้ายเงินลงทุนนี้ไปยังหุ้นตัวใหม่ที่น่าสนใจมากกว่า โดยหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจแต่ตลาดหุ้นไทยไม่มีให้เลือกมากนักก็เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ในส่วนนี้นักลงทุนก็อาจพิจารณาลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศได้
สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ที่กำลังสนใจลงทุนในหุ้นไทย แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ช่วงนี้ อาจทำให้ลังเลว่าจะลงทุนดีหรือไม่? ขอแนะนำให้เริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวมหุ้น เพราะมีผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารจัดการเงินให้ โดยอาจจะเลือกลงทุนเพื่อสะสมหุ้นไทยในราคาย่อมเยา หรือเลือกลงทุนหุ้นต่างประเทศที่มีโอกาสเติบโตสอดคล้องกับเทรนด์ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ยังมีความไม่ชัดเจนว่าวัคซีนจะผลิตออกมาได้ตอนไหน เศรษฐกิจอาจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเร็ววัน นักลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวังด้วยการกระจายการลงทุน (Asset Allocation) ในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ไว้ในพอร์ต ลดความผันผวน และช่วยพยุงไม่ให้เราบาดเจ็บจากการลงทุนในหุ้นมากจนเกินไป