BF Economic Research
- ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และทิ ศทางเศรษฐกิจปี 2020-2021
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 เป็นระลอกที่ 3 โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์มากกว่าในระลอกแรกและระลอกที่ 2 ซึ่งสาเหตุนอกเหนือจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว การเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้สถานที่ต่าง ๆ ต้องปิดประตูหน้าต่าง การระบายอากาศจึงลดลง และมีส่วนสำคัญให้เกิดการกระจายของเชื้อโรค อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ที่เผชิญการระบาดเช่นเดียวกันจะพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันในญี่ปุ่นนั้นมีจำนวนไม่มาก และยอดผู้เสียชีวิตมีอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับระลอกแรก
เศรษฐกิจไตรมาส 3/2020 ขยายตัว 22.9% QoQ saar จากที่หดตัว -29.2% ในไตรมาสก่อน เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส จากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ขยายตัวดี ประกอบกับการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP และยอดส่งออกที่เติบโต 7.0% QoQ อย่างไรก็ดี ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ อันเนื่องมาจากมุมมองของภาคธุรกิจที่ยังมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19
สำหรับในปี 2021 เรามองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ 2.1% จาก -4.5% ในปีนี้ การบริโภคและการส่งออกจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนขยายตัวได้ดี รายสินค้ากลุ่มที่ผันผวนตามวัฏจักรเศรษฐกิจมีการปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก นำโดยเครื่องจักรกลไฟฟ้า (Electrical Machinery) อุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ (Transport Equipment) และเครื่องจักรกล (Machinery) โดยมูลค่าการส่งออกของทั้งสามกลุ่มคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่น การฟื้นตัวต่อจากนี้ เรามองว่าแนวโน้มการส่งออกจะยังคงดีขึ้นต่อเนื่องโดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ในขณะที่ด้านการบริโภค เราคาดว่าจะเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มักมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ส่วนในด้านการลงทุน เรามองว่าน่าจะฟื้นตัวช้ากว่าปัจจัยอื่นๆ จากความไม่แน่นอนของภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ภาคธุรกิจยังลังเลที่จะขยายการลงทุน
- แนวทางด้านนโยบาย
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ปรับมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเป็น “เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว” จากเดิมที่ระบุ “เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น” และยกระดับการประเมินสำหรับภาคการส่งออกและการผลิตเป็น “การส่งออกและการผลิตขยายตัวแล้ว” จากเดิมที่ระบุ “การส่งออกและการผลิตพลิกกลับมาขยายตัว” เพื่อให้สอดรับกับเครื่องชี้ทั้งด้านการบริโภค การลงทุนภาครัฐ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินของ BoJ ยังมีมติให้คงนโยบายการเงินเดิมทั้งเป้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและยาว และเป้าหมายการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ที่ประกาศก่อนหน้านี้ โดยเราคาดว่า หาก BoJ มีการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจะเป็นการปรับในส่วนของมาตรการพิเศษที่ช่วยเสริมสภาพคล่องในระบบ ขณะที่ นโยบายด้านดอกเบี้ยน่าจะยังคงไว้ที่ระดับนี้จนถึงอย่างน้อยปี 2022 หรืออาจลากยาวไปจนถึงปี 2023
มาตรการพิเศษของ BoJ เพื่อรับมือกับวิกฤติ COVID-19
- ด้านนโยบายภาครัฐ
กระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ได้ยื่นของบประมาณเบื้องต้นสำหรับงบประมาณประจำปี 2021 (เม.ย. 2021-มี.ค. 2022) เป็นวงเงินถึง 105.4 ล้านล้านเยน ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่างบประมาณในปี 2020 ที่ 105.0 ล้านล้านเยน โดยรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปฎิรูปการคลัง รวมถึงเอาชนะการระบาดของไวรัส ที่ทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ สัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของงบประมาณประจำปี 2021 จะถูกใช้เพื่อรับมือการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ (วงเงิน 32.9 ล้านล้านเยน) และเพื่อการชําระหนี้ภาครัฐและการประกันสังคม (วงเงิน 25.5 ล้านล้านเยน)
นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณางบประมาณพิเศษรอบใหม่เป็นครั้งที่ 3 (Third Supplementary Budget) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีเพื่อให้ทันการประชุมสภาสมัยสามัญในเดือนม.ค. 2021 ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้งบประมาณพิเศษในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาแล้ว 2 รอบ คิดเป็นวงเงินมูลค่าสูงถึง 160 ล้านล้านเยน หรือกว่า 1.6 เท่าของงบประมาณประจำปี 2020 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ภาวะถดถอย
- ความเสี่ยง
การลงทุนของภาคธุรกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวจากผลของการระบาดของ COVID-19 นับเป็นความเสี่ยงหลักต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออก ขณะที่ในด้านการเมืองปี 2021 ยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันจะหมดวาระลงในเดือนต.ค. 2021 ซึ่งเราคาดว่านายซูกะมีแนวโน้มประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งก่อนหมดวาระในช่วงครึ่งปีแรกในช่วงที่คะแนนนิยมของพรรคยังอยู่ในระดับสูง แต่ถ้าหากผลการเลือกตั้งพลิกโผ อาจทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องของนโยบายได้ นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในยุโรปและสหรัฐฯ ที่จะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายขึ้นอาจทำให้ญี่ปุ่นต้องยกเลิกการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกอีกครั้งหนึ่งหลังเลื่อนมาจากปี 2020
- BBLAM’s View
แม้ว่าตัวเลข GDP จะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดในไตรมาส 3/2020 แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นนับว่าฟื้นตัวช้ากว่าประเทศหลักอื่นๆ สะท้อนผ่านดัชนี PMI ที่อ่อนแอกว่าประเทศสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน ค่อนข้างมาก โดยเรามองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงขาลง แต่ในมุมของค่าเงิน ถ้าหากเศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และนักลงทุนเข้าสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เยนอ่อนค่าลงได้ เนื่องจากนักลงทุนเทขายเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก
ติดตาม BF Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2021 ฉบับเต็มได้ที่ 1H2021 Economic Review Final.pdf