BF Economic Research
- ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาและทิศทางเศรษฐกิจในปี 2020-2021
GDP ไทยในไตรมาส 3/2020 หดตัว -6.4% ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัว -12.1% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการปรับตัวที่ดีขึ้นกว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว -8.8% YoY ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนปีนี้ GDP ไทยหดตัวที่-6.7% YTD ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนหนุนให้เศรษฐกิจไตรมาส 3/2020 หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้า มาจากการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลและการลงทุนของภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ ภายใต้แนวโน้มสถานการณ์ต่างๆ ทั้งจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ หากไม่มีปัจจัยใดที่เข้ามากระทบรุนแรงก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 เนื่องจากจะเห็นได้จากดัชนีที่เป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากมีมาตรการคลายล็อคดาวน์ในช่วงโควิด ในขณะที่ตลาดส่งออกจะติดลบน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2020 นี้จะหดตัวที่ -6.4% และเรามองว่าในปี 2021 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.8% โดยจะเป็นอัตราการขยายตัวที่ยังไม่กลับไปในระดับของ GDP ปี 2019
แนวทางด้านนโยบาย
แนวทางด้านนโยบายการคลัง จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะใช้เป็นตัวจุดสตาร์ทเศรษฐกิจไทยในปี 2021 ผ่านนโยบายที่มุ่งเน้นการกระตุ้น 1) การบริโภคในครัวเรือน, 2) การท่องเที่ยวในประเทศ, 3)การช่วยเหลือเกษตรกร, และ 4) การลงทุนในโครงสร้างภาครัฐ โดยที่เม็ดเงินจะมาจากสองส่วนคืองบประมาณคลังประจำปี FY2021 และเม็ดเงินภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ได้อนุมัติไปเมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2020 เราได้รวบรวมนโยบายสำคัญที่คาดว่าจะมีส่วนช่วยหนุนเศรษฐกิจในปี 2021 รายละเอียดดังกราฟด้านล่าง
โครงการภาครัฐสำคัญในปีงบประมาณ FY2021 (ล้านบาท)
แนวทางด้านนโยบายการเงิน ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 1/2020 ธปท.ได้ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 75 bps นับตั้งแต่ต้นปี เป็นผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยลดลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 0.5% อีกทั้งยังได้รับอำนาจจาก พรก.สองฉบับ* เพื่อให้อำนาจ ธปท.ในการช่วยเหลือผ่าน 1) การเพิ่มสภาพคล่อง/พักชำระให้กับธุรกิจ SMEs, 2)การใช้ครื่องมือที่พร้อมใช้ดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน,และ 3) การลดภาระให้กับธนาคารพาณิชย์โดยลดอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุน FIDF
ในการประชุมล่าสุดเดือนธ.ค. กนง.ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ (6:0) ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% โดยการประชุมดังกล่าวมีขึ้นในวันที่ 18 ธ.ค. 2020 เป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันกับช่วงเวลาที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่จ.สมุทรสาคร เราจึงมองว่าการตัดสินใจคงดอกเบี้ยของกนง. ณ เดือนธ.ค. นั้น ยังไม่ได้เผื่อกรณีที่ COVID-19 แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ทั้งนี้จากรายงานของ กนง.ได้ระบุไว้ว่าจะจับตามสถานการณ์แพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด และจะ “รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด” ทำให้เรามองว่าหากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นวงกว้างเช่นในช่วงเดือนมี.ค. อาจจะเป็น Trigger Event ที่ทำให้กนง.ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ ดังเช่นที่เคยจัดประชุมรอบพิเศษในวันที่ 20 มี.ค. 2020 มาแล้ว
([*] พระราชกำหนดสองฉบับที่ให้อำนาจ ธปท.ในการช่วยเหลือธุรกิจและผ่อนคลายสภาพคล่องได้แก่ 1) ร่าง พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ,และ 2) ร่าง พ.ร.ก. การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน รายละเอียดดัง Link)
- ความเสี่ยง
ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2021 นี้ประกอบไปด้วย 1) ความเสี่ยงที่ COVID-19 จะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ซึ่งอาจจะไปตอกย้ำผลกระทบด้านลบต่อธุรกิจในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวและการบิน และจะกลายเป็น Domino Effect ที่ทำให้ภาพของการจ้างงานและการบริโภคในประเทศแย่ลงต่อเนื่อง ความเสี่ยงถัดไปได้แก่ 2) ความเสี่ยงด้านการเมืองภายในประเทศที่ผู้ประท้วงในประเทศได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเรามองว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้จะมีผลต่อเสถียรภาพของประเทศอันจะส่งผลต่อกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้หากความเสี่ยงข้างต้นไม่เกิดขึ้นจริง เรามองว่าปี 2021 นี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและจะไปแตะระดับ pre-COVID-19 ในปี 2022-2023
- BBLAM’s View
ประเทศไทยเป็น Laggard ในมุมมองของเศรษฐกิจมหภาค เราเห็น Upside จากการใช้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐเพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายภายหลังจากที่การลงทุนภาครัฐล่าช้าจากการล็อคดาวน์ในปี 2020 ทั้งนี้การประมาณการทางเศรษฐกิจดังที่กล่าวเบื้องต้นอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ทางการสามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้
ติดตาม BF Economic Review ครึ่งปีแรกปี 2021 ฉบับเต็มได้ที่ 1H2021 Economic Review Final.pdf