ESG มากแค่ไหนถึงเพียงพอ: กรณีศึกษาจาก Facebook

ESG มากแค่ไหนถึงเพียงพอ: กรณีศึกษาจาก Facebook

โดย ชัยธัช เบน บุญญาปะมัย
กองทุนบัวหลวง

ในปัจจุบัน มีเงินทุนภายใต้การบริหารของนักลงทุนสถาบันที่ใช้แนวคิดการลงทุนแบบยั่งยืน หรือที่เรียกว่า ESG (Environmental Social และ Governance) อยู่ราว 30 ล้านล้านดอลลาร์ฯ โดยเพิ่มขึ้นมากถึง 34% นับจากปี 2016 (อ้างอิงจาก Global Sustainable Investment Alliance) ขณะที่ ข้อมูลของ Morningstar พบว่า การลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกผ่านกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนอย่างยั่งยืน (ESG) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ และในช่วงนี้การลงทุนลักษณะดังกล่าวนับว่าสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่กองทุนเหล่านี้ สะท้อนถึงผลเชิงบวกของบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ดี

ขณะเดียวกัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่านักลงทุนหันมาสนใจลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติ COVID-19 ซึ่งจากข้อมูลของ Morningstar นั้น ชี้ให้เห็นว่า กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ (Large Cap) ที่มีผลตอบแทนสูงสุด 10 อันดับแรกมีการลงทุนอยู่ในหุ้นกลุ่ม FAANG ถึง 17%

ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ จากข้อมูลของ Refinitiv พบว่า กองทุนที่ใช้แนวทางแบบ ESG ที่มีผลตอบแทนดีที่สุด 10 อันดับแรกมีการลงทุนในหุ้นกลุ่ม FAANG ถึง 19% ใกล้เคียงกับกองทุนหุ้นสหรัฐฯ อื่นๆ ในตลาดทั้งหมดที่มีการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีราว 20%

ประเด็นนี้อาจนำมาซึ่งความคลางแคลงใจของคำว่ากองทุนที่ลงทุนอย่าง “ยั่งยืน” จากที่กองทุนเหล่านี้ให้น้ำหนักในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก ท่ามกลางกระแสวิพากวิจารณ์บริษัทเหล่านี้เกี่ยวกับประเด็นการละเมิดข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นไม่ธรรม และพฤติกรรมการผูกขาด สะท้อนความสำคัญของการแยกแยะความแตกต่างระหว่างการลงทุนแบบ ESG กับการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investing: SRI)

หากกล่าวโดยนิยามแล้ว การลงทุนแบบ ESG นั้นมุ่งหวังไปที่ผลตอบแทนด้านตัวเงินเป็นหลัก โดยจะเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนด้วยการจำกัดลงทุนในบริษัทที่มีความสุ่มเสี่ยงด้านนโยบายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมภิบาล หรือเป็นบริษัทไม่มีนโยบายด้านดังกล่าวเลย หรือในอีกแง่หนึ่ง การลงทุนแบบ ESG ก็ไม่ได้แตกต่างจากเลือกกระจายการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท หรือการเลือกการลงทุนในพันธบัตรที่อยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment-grade bonds) และต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (Junk bonds) เพื่อบริหารความเสี่ยงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้ได้ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง (Risk-adjusted returns) สูงที่สุด

ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนแบบ SRI นั้นมีความหมายที่กว้างกว่า ESG โดยเป็นการลงทุนที่จำกัดการลงทุนในบริษัท หรือประเภทธุรกิจที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์จริยธรรมที่กำหนดขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลนอร์เวย์กล่าวในปี 2019 ว่าจะยกเลิกการลงทุนในสินทรัพย์มูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และอาจรวมถึงการยกเลิกลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน ยาสูบ อาวุธ ธุรกิจที่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงาน

แต่ในทางปฏิบัติ นิยามดังกล่าวข้างต้นยังมีความคลุมเครืออยู่มาก แม้แต่ในระดับนโยบายภาครัฐ โดยในเดือนมิ.ย. 2020 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้เสนอร่างกฎระเบียบใหม่ที่ห้ามไม่ให้กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพหลังเกษียณลงทุนในแนวทาง ESG ซึ่ง Eugene Scalia รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานระบุว่า กฎดังกล่าวออกมาเพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนเพื่อการเกษียณนั้นจะมุ่งเน้นไปที่ผลตอบแทนของนักลงทุนเป็นหลัก มากกว่าเพื่อเป้าหมายอื่นๆ ที่มิใช่เป้าหมายทางการเงิน อย่างสังคม หรือสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยผู้บริหารเงินออมภายใต้ ERISA (Employee Retirement Income Security Act) ของสหรัฐฯ ต้องเลือกลงทุน โดยอยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงผลตอบแทนหลังปรับค่าความเสี่ยงเป็นที่ตั้ง

สำหรับกรณีศึกษาเมื่อพิจารณาจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เราขอยกตัวอย่างกรณีของบริษัท Facebook ที่ถือว่าผ่านกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เริ่มจากประเด็นการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ในปี 2018 ที่มีข่าวแพร่สะพัดว่า ข้อมูลผู้ใช้งาน Facebook นั้นหลุดออกไปยังบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลอย่าง Cambridge Analytica ซึ่งกระทบผู้ใช้งานกว่า 87 ล้านบัญชี รวมไปถึงการคว่ำบาตรไม่ลงโฆษณาบน Facebook จากหลายบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ Coca-Cola Starbucks และ Ford Motor เนื่องมาจากการที่ Facebook ไม่สามารถจัดการกับปัญหา Hate Speech หรือคำพูดที่แสดงถึงความเกลียดชัง การสร้างความเข้าใจผิดและความแตกแยกในสังคมได้

นอกจากนี้ สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ยังได้มีการเรียกผู้บริหารของ Facebook ไปให้ข้อมูลและตอบคำถามเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการผูกขาดทางธุรกิจและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย ส่งผลให้ในเดือนมิ.ย. 2019 หุ้น Facebook ถูกถอดออกจากดัชนี S&P ESG และยังไม่ได้ติดอันดับอยู่ในดัชนี Dow Jones Sustainability Index (DJSI) ด้วย

อย่างไรก็ดี ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Facebook อย่าง Mark Zuckerberg กลับไม่ได้สนใจคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มากนัก โดยเฉพาะเมื่อโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ Facebook นั้นเป็นแบบพิเศษโดยแบ่งเป็น 2 คลาส ซึ่งเอื้อให้เขาสามารถมีอำนาจในการควบคุมและบริหารองค์กรได้มากกว่าผู้ถือหุ้นทั่วไป ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้ถือหุ้นอื่นๆ เนื่องจากเมื่อดูจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตประกอบกับตามหลักธรรมภิบาลของการบริหารองค์กรแล้ว จะพบว่าบริษัทที่มีนโยบายการบริหารแบบมีภาระรับผิดชอบ สามารถตรวจสอบได้และถ่วงดุลอำนาจความต้องการของผู้ถือหุ้นแต่ละคนมักจะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า ผันผวนต่ำกว่า และให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่า

ทั้งนี้ ในทางตรงกันข้าม Facebook กลับนับเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงในด้านการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างมาก แม้ว่า Google จะเป็นเจ้าแรกในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีการลงทุนในพลังงานทดแทน (พลังงานแสงอาทิตย์) เพื่อใช้สำหรับศูนย์ข้อมูล (Data Center) แต่ Facebook เองถือเป็นผู้บุกเบิกศูนย์ข้อมูลสีเขียว หรือ Green Data Center หลังเปิดตัวศูนย์ข้อมูลของตัวเองขึ้นในเมือง Prineville รัฐ Oregon ในปี 2011 ซึ่งนับเป็นศูนย์ข้อมูลที่ออกแบบมาเพื่อประหยัดการใช้พลังงาน และยังมีการแชร์การออกแบบศูนย์ข้อมูลแบบนี้อย่างเปิดเผยผ่าน Open Compute Platform เพื่อให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาร่วมพัฒนาด้วย

ปัจจุบันมีประมาณ 200 บริษัทที่เข้าร่วมกับโครงการนี้ ทำให้ในปี 2018 ศูนย์ข้อมูลของ Facebook มีการใช้พลังงานหมุนเวียนถึง 75% ในการดำเนินงาน และตั้งเป้าว่าจะใช้ให้ได้เป็น 100% ในปี 2020 โดยปัจจุบันศูนย์ข้อมูลในเมือง Lulea ในสวีเดนและเมือง Altoona รัฐ Iowa ในสหรัฐฯ ได้หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน (พลังงานน้ำและลม) ถึง 100% แล้ว นอกจากนี้ Mark Zuckerberg ยังได้ออกมาแสดงความคิดเห็นวิจารณ์ประเด็นที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอีกด้วย

นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว Facebook ยังสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กรด้วย โดย Global chief diversity officer ของ Facebook ระบุในรายงานปี 2014 ว่า 69% ของพนักงานทั้งหมดนั้นเป็นผู้ชาย และราว 57% เป็นคนผิวขาว ขณะที่ในปีนั้น 85% ของช่างเทคนิคเป็นผู้ชายและ 53% เป็นคนผิวขาว แต่ปัจจุบันสัดส่วนของผู้ชายและคนผิวขาวต่างลดลงเป็น 63% และ 44% ตามลำดับ ส่วนคนผิวขาวที่เป็นช่างเทคนิคได้ปรับลดลงมาเป็น 40% ของจำนวนช่างทั้งหมด ส่วนผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงในปัจจุบันมีถึง 33% เพิ่มขึ้นจาก 23% ในปี 2014

จึงจะเห็นว่า แม้แต่กองทุนที่ขึ้นชื่อว่า ให้ความสำคัญกับ ESG ก็ยังมีรายละเอียดของความเข้มข้นที่แตกต่างกัน อย่างในกรณี Facebook ผู้ลงทุนคนหนึ่งอาจจะมองว่า ถึงบริษัทจะมีความพยายามปรับปรุง ESG ในมิติอื่นๆ แต่ในมิติที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ บริษัทกลับไม่สามารถแก้ไขได้ และเป็นความเสี่ยงในด้าน Regulation ของบริษัท แต่ขณะเดียวกัน กับผู้ลงทุนอีกคนหนึ่ง อาจจะมองว่า ถ้า Facebook ต้องการแก้ไขทุกปัญหาที่ถูกโจมตี อาจจะทำให้ Facebook ขาดความเป็น ‘Social Media’ ที่แท้จริง และอาจจะมี Platform คู่แข่งอื่นแย่งส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นได้

ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่จะลงทุนในกองทุนที่ให้ความสำคัญกับปัจจัย ESG ควรหาข้อมูลให้มากขึ้นด้วยว่า ผู้จัดการกองทุนนั้น มีหลักเกณฑ์ในการเลือกลงทุนอย่างไร มีขอบเขตของความเข้มข้นต่อประเด็น ESG ในระดับใด แบ่งน้ำหนักระหว่างการสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจกับความรับผิดชอบทางสังคมอย่างไร ซึ่งเราเชื่อว่า แนวทางใดก็ตามที่สุดโต่งไปในด้านใดด้านหนึ่งจนมากเกินไป อาจจะเป็นแนวทางที่ไม่ยั่งยืนก็เป็นได้