รัฐสภาสิงคโปร์ออกมายอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก โดยมีเป้าหมายเรียกร้องให้รัฐบาล ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเร่งดำเนินการในประเด็นนี้ ซึ่งข้อเสนอบางส่วนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อภิปรายไว้ ได้แก่ การติดตามการลดปริมาณการใช้พลังงาน รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น และที่สำคัญคือการบริหารจัดการกับขยะ
หลังจากการอภิปรายเมื่อวันจันทร์ที่ 1 ก.พ. 2021 รัฐสภาสิงคโปร์ได้อนุมัติการเคลื่อนไหวที่จะเร่งการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดยประกาศให้ปัญหานี้เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก การเคลื่อนไหวดังกล่าวยังได้รับการสะท้อนการยอมรับว่า วิกฤติสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ ที่ต้องใช้ความพยายามร่วมกันในการบรรเทาและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เพื่อรองรับความยั่งยืนในการพัฒนาของสิงคโปร์
ปัจจุบันยังคงอยู่ระหว่างการหารือนโยบายการดำเนินการด้านสภาพอากาศที่เข้มข้นมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในสิงคโปร์ หลังจากการประกาศชัดเจนก็จะทำให้ประเทศเป็นผู้นำในภูมิภาคอีกครั้งในการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
เมื่อปีที่ผ่านมาสิงคโปร์ได้เปิดตัวแผนมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (7.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อปรับให้เข้ากับอนาคตที่ต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศ และลงทุนเพิ่มเติมในภาคการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้สิงคโปร์กลายมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหาร
ย้อนไปในปี 2019 สิงคโปร์ประกาศให้เป็น ‘year of zero waste’ หรือปีแห่งการปลอดขยะ โดยเปิดตัวแผนแม่บทในการกำจัดขยะที่ฝังกลบลดลง 30% ภายในปี 2030 ซึ่งแผนแม่บทนี้เป็นเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน