By…พิชย ฉัตรพลรักษ์
BF Knowledge Center
นักลงทุนคงเคยได้ยินอยู่บ่อยครั้งที่ว่า การกระจายเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่มีความหลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนลง ทั้งหมดนี้ ฟังดูดีในทางทฤษฎี แต่ว่า เราเห็นการใช้งานในชีวิตจริงน้อยมาก สาเหตุหนึ่งคือ ความอคติใน “ความติดบ้าน” (Home Bias) นั้นมีอยู่จริงและแทรกซึมเข้าไปในทุกประเภทของนักลงทุน ทั้งที่เป็นประเภทบุคคลและไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนประเภทสถาบันที่จัดอยู่ในกลุ่มนักลงทุนที่มีการรับรู้ข้อมูล (informed investors) ก็ตาม
การกระจายเงินลงทุนมีข้อดีอยู่ 2 ข้อหลักๆ คือ นักลงทุนมีโอกาสที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ (ต่อข้อมูลข่าวสาร) มากขึ้น และจะช่วยลดความเสี่ยงที่เรียกกันทั่วไปว่า เป็นความเสี่ยงแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ความเสี่ยงที่ยึดติดกับด้านภูมิศาสตร์ใดหรือประเภทของสินทรัพย์ใด เพียงอย่างเดียว
ค่าสหสัมพันธ์ (Correlation)
นักลงทุนพึงพิจารณาความสัมพันธ์ของอัตราผลตอบแทนระหว่างประเภทสินทรัพย์ โดยใช้ค่าสหสัมพันธ์เป็นตัววัด ควบคู่ไปกับอัตราผลตอบแทนและความผันผวนด้วย เนื่องจากความสัมพันธ์ของอัตราผลตอบแทนระหว่างประเภทสินทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อความผันผวนปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างหมวดสินทรัพย์ประเภทต่างๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีการพิจารณาจัดสรรพอร์ตโฟลิโอ และพึงปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนให้สอดคล้องกับค่าคาดการณ์ต่างๆ ของตลาด
ผลตอบแทน
นักลงทุนส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า การกระจายความเสี่ยงเป็นกุญแจสำคัญในการบริหารเงินลงทุนให้แก่พอร์ตโฟลิโอ อย่างไรก็ตาม บางครั้งนักลงทุนกลับเลือกที่จะยึดติดการลงทุนอยู่กับตลาดในบ้านตัวเอง เนื่องจากเป็นทางออกที่เรียบง่ายและสะดวกสบาย แต่ด้อยประสิทธิภาพ
ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยง
ดังนั้น หากนักลงทุนที่ไม่ยึดติดกับ Home Bias และเลือกที่จะกระจายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่หลากหลาย นักลงทุนก็จะได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยง (Diversification benefits) คือ
- จำกัดความเสี่ยงจากการได้รับอัตราผลตอบแทนในด้านที่ลดน้อยลงหรือด้านที่เกิดการขาดทุน
- ลดความผันผวนของอัตราผลตอบแทนของพอร์ตโฟลิโอ
- เพิ่มอัตราผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอ