สรุปเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค.

สรุปเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค.

BF Economic Research

รายงานเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนจัดทำโดยธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการกลับมา Lockdown ในช่วงเดือนม.ค. คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ Bottom Out ในระยะข้างหน้า รายละเอียดสำคัญมีดังนี้

  • เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน หดตัว -4.6% YoY (vs. +2.9% เดือนก่อน): โดยหดตัวในทุกหมวดการใช้จ่าย โดยเฉพาะหมวดบริการ (-29.0% vs. -27.6% เดือนก่อน) และหมวดสินค้าคงทน (-12.3% vs. +6.9% เดือนก่อน) ที่หดตัวในระดับเลขสองหลัก ขณะที่รายได้เกษตรกร (+8.0% vs. +10.6% เดือนก่อน) ยังหนุนกำลังซื้อต่อเนื่อง ทั้งจากด้านราคาและผลผลิต ซึ่งเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง
  • เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัวเป็น 1.6% YoY (vs. + 6.1% เดือนก่อน): สอดคล้องกับการลดลงของความเชื่อมั่นทางธุรกิจ โดยการชะลอตัวเกิดจากการลดลงของพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้าง (-11.7% vs.-8.7% เดือนก่อน) และยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ในประเทศ (-4.0% vs. + 27.7% เดือนก่อน)
  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังคงอ่อนแออย่างมาก (-99.8% YoY vs. -99.8% เดือนก่อน): การหดตัวเป็นผลมาจากมาตรการจำกัดการเดินทางที่ยังคงบังคับใช้อยู่อย่างเข้มงวด
  • การใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐฯ ที่ไม่รวมเงินโอน ทรงตัว (+0.3% YoY vs. +74.1% เดือนก่อนหน้า): โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจขยายตัว แต่เติบโตช้าลงไปมากจากเดือนก่อนหน้า
  • กิจกรรมในประเทศลดลงในเดือน ม.ค. เนื่องจากรัฐบาลได้ใช้มาตรการ “Soft  Lockdown” เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระลอกที่ 2 จึงมองว่ากิจกรรมเศรษฐกิจที่ลดลงได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหลังจากที่รัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. (ผ่อนคลายครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 ก.พ. และครั้งที่ 2 ในวันที่ 23 ก.พ.) เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มีเพียงจังหวัดสมุทรสาครเท่านั้นที่ยังคงถูกควบคุมอย่างเข้มงวดสูงสุด
  • ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่เดือน ก.พ. รัฐบาลได้เริ่มผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ในหลายจังหวัด เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัว และได้มีการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะการแจกเงิน ทั้งโครงการ “เราชนะ” (แจกเงินคนละ 7,000 บาท ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย 31.1 ล้านคนในช่วงเดือน ก.พ.- พ.ค. โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่า 2.1 แสนล้านบาท) และโครงการ “เรารักกัน” (อนุมัติโครงการ “ม 33 เรารักกัน” ของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กรอบวงเงิน 37,100 ล้านบาท โดยจะสนับสนุนวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 (จำนวน 9.27 ล้านคน) ด้วยวิธีการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นรายสัปดาห์ในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2021 จำนวนไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าเดียวกันกับโครงการ “เราชนะ” ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 2021) ที่จะมีส่วนหนุนการบริโภคในประเทศปีนี้ เราจึงมองว่าปี 2021 นี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้เป็นบวก โดยที่การท่องเที่ยวน่าจะเข้ามาเป็น Positive Upside ได้ในช่วงท้ายปี เราจึงมองว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ 3.3% ได้ในปีนี้ หรือกลับเข้าไปที่ 97% ของ GDP ปี 2019 

ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของไทย

ที่มา: กองทุนบัวหลวง

แนวโน้มค่าเงินบาท

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ฯเคลื่อนไหวในกรอบแคบในระดับ 90-91 แต่มีความผันผวนเล็กน้อยหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความคาดหวังของตลาดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ฯแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี นาย Jerome Powell ประธาน Fed ได้ส่งสัญญาณไม่หยุดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เนื่องจากเศรษฐกิจยังห่างไกลจากเป้าหมายอัตราการว่างงานและเงินเฟ้อ และดูเหมือนต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะบรรลุเป้าหมาย จึงจะยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯปรับตัวลดลงมาอีกครั้ง สอดคล้องกับค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวเกาะเส้น 30 บาทต่อดอลลาร์ฯตลอดทั้งเดือนก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยที่ส่งผลต่อทิศทางค่าเงินชัดเจน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เรามองว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 29.5-31.0 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง เราคาดว่า ค่าเงินบาทน่าจะเผชิญความผันผวนเพิ่มขึ้น โดยต้องจับตาทั้งตัวเลขเศรษฐกิจและแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ฯ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นโดดเด่นกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อย่างยูโรโซน และญี่ปุ่น และ Fed เริ่มกล่าวถึงการปรับลดการทำ QE ลง (QE Tapering) ก็จะส่งผลให้ Bond Yield ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และดึงดูดให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากระดับปัจจุบัน แต่หากเศรษฐกิจทางฝั่งเอเชียขยายตัวได้ดีนำโดยเศรษฐกิจจีน และ Fed ยังมีท่าทีดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อเนื่องไปนานกว่าที่ตลาดคาด ก็จะทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้อีกจากเงินทุนที่จะไหลเข้าสู่ตลาดทางฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะหากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลับมาเดินทางได้ตามปกติ และทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยกลับมาเกินดุลในระดับสูง จะยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น