• มติที่ประชุม ECB: ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงมาตรการทางการเงินต่างๆไว้ตามเดิมในการประชุมวันที่ 8 มี.ค. ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินฝากที่ -0.4% และ QE ขนาด 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนจนถึง ก.ย. 2018 โดย ECB ยังคงความเป็นได้ของการยืดระยะโครงการ QE ออกไปจากกำหนดการเดิม ก.ย. 2018 หลังจากคาดการณ์เงินเฟ้อใหม่สำหรับปี 2019 ถูกปรับลง 10 bps เป็น 1.4% อย่างไรก็ดี ได้มีการลบข้อความที่จะเปิดทางให้กับ ECB กลับมายกระดับการกระตุ้นขึ้นอีกครั้ง
• จุดจบ QE: ข้อความดังกล่าว ปรากฏอยู่ในเนื้อหาการประชุม ECB มาโดยตลอดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2016 ดังนั้น การตัดข้อความนี้ออกไป จึงสื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินมีความมั่นใจต่อมุมมองเศรษฐกิจยุโรปในระดับหนึ่งแล้ว และไม่คิดว่าจะมีความจำเป็นที่อาจต้องกับมาเพิ่มขนาดการกระตุ้นอีกต่อไปในเร็วๆนี้ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์ที่สร้างความวิตกขึ้นบ้างก็ตาม เช่น การเตรียมตัวทำสงครามทางการค้ากับสหรัฐฯผ่านการขึ้นภาษีนำเข้า หรือความไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้งอิตาลีนำไปสู่สภาวะสภาแขวน เป็นต้น
• สงครามทางการค้า: “If you put tariffs on your allies, one wonders who your enemies are.” นาย Mario Draghi ประธาน ECB กล่าวถึงการยกระดับกำแพงภาษีการค้าของสหรัฐฯที่จะนำไปสู่การตอบโต้จากฝั่งยุโรป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ-การเงิน และอาจทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายของ ECB มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นได้ในอนาคต
• Forward Guidance: การเปลี่ยน Forward Guidance เป็นสิ่งที่ทาง ECB เตรียมสื่อสารออกมาสักพักหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่การปรับลดหรือยุติมาตรการกระตุ้นในอีกไม่ช้านี้ ก่อนที่จะมีการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในปีหน้า ภายใต้การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภูมิภาค โดยประการศครั้งสุดท้ายจาก Eurostat ชี้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาส 4/2017 โตได้ 0.6% QoQ sa ทำให้การเติบโตของ GDP ทั้งปี 2017 ออกมารวดเร็วที่สุดในรอบ 10 ปี
• ตลาดตอบสนอง: ภายหลังการประกาศจาก ECB ยูโรแข็งค่าขึ้นราว 0.5% เทียบกับดอลลาร์ฯ ระหว่างที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันอายุ 10 ปี ก็ได้ปรับตัวขึ้นราว 5 bps