คุณค่าของคนวัยเกษียณ

คุณค่าของคนวัยเกษียณ

By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

BF Knowledge Center

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ที่มีผู้ใหญ่อายุเกิน 60 เกินกว่า 20% ของประเทศ  สังคมไทยจึงเริ่มปรับตัวเพื่อผู้สูงอายุ  มีสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ พื้นบ้านที่สอดรับกับสรีระผู้สูงวัย รถยนต์ที่มีรถยกรถเข็น มีบริการดูแลผู้สูงวัยระหว่างวันที่ลูกๆ ไปทำงานไม่อยู่บ้าน มีที่อยู่สำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ  นั่นคือมุมมองว่าผู้สูงอายุต้องการคนดูแล ต้องการสินค้าและผลิตภัณฑ์เฉพาะ

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผู้เกษียณอายุเกิน 60 ปี จำนวนมากยังคงทำงาน มีบทบาทในสังคม โดยไม่ได้กลายเป็นภาระหรือต้องการคนดูแลตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้เกษียณในช่วงเริ่มต้น

สำหรับคนวัยเกษียณ มุมมองที่มีต่อตนเอง ยังคงแตกต่างจากมุมมองจากคนวัยอื่น คำว่าเกษียณ หรือตัวเลข 60 มันไม่ได้ชี้เป็นชี้ตายชีวิต หลังจากนอนหลับในคืนวันที่ 31 ธันวาคมในปีที่กษียณ ตื่นขึ้นมา 1 มกราคม ร่างกายยังคงเหมือนเดิม กำลังวังชา สมอง ยังเหมือนเดิม ดังนั้น การจะบอกว่าคนที่เกษียณแล้วต้องอยู่กับบ้าน อย่าทำงานหนัก อย่าออกกำลังกายหนัก อย่าทานอาหารย่อยยาก จึงยากที่คนวัยเกษียณใหม่ๆ จะยอมรับได้

หากจะแบ่งกลุ่มวัยเกษียณเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้เกิดมุมมองที่ถูกต้องมากขึ้น

  • ช่วงแรก ยังแข็งแรงมีกำลังวังชา มันสมองยังดี แข็งแรง มีไฟ
  • ช่วง 2 เป็นช่วงเกษียณจริงๆ ที่กำลังวังชาลดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ เริ่มเจ็บป่วย โรคหลายๆ อย่างแสดงออกอย่างชัดเจน ความจำลดถอยลง แต่สมองยังดี เดินเหินได้แม้ไม่แข็งแรงเท่าช่วงแรก
  • ช่วงสุดท้ายคือช่วงท้ายของวัยจริงๆ ต้องมีคนดูแล ช่วยเหลือ

ช่วงชีวิตของคนสูงวัยแต่ละคนไม่เหมือนกัน  บางคนอายุ 40 ปี แต่แก่เหมือนคน 60-70 ปีก็มี  คนอายุ 70 ยังแข็งแรง ความจำดี ใช้ชีวิตได้เหมือนคนอายุ 50 ปีก็มาก ในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว เริ่มปรับอายุเกษียณให้ยาวนานขึ้น จาก 60ปี ไปเป็น 65ปี โดยเฉพาะประเทศที่วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้า ทำให้วัย 60ปี มีร่างกายแข็งแรง สมอง ความจำ ยังยอดเยี่ยม บุคคลวัย 60 ปี ยังสามารถใช้ชีวิตทำงานได้เหมือนคนปกติ

ดังนั้น อย่าตัดสินและปฎิบัติกับเขาเพียงเพราะตัวเลขอายุและสถานะการงานในองค์กร