การฟื้นตัวของเศรษฐกิจผูกติดกับแคมเปญวัคซีน

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจผูกติดกับแคมเปญวัคซีน

โดย…ทนง ขันทอง

หน่วยงานโออีซีดี (Organization for Economic Co-operation and Development) ได้ออกมาตอกย้ำชัดเจนว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเร็ว ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการแจกจ่ายหรือการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาว่าแพร่หลายหรือมากน้อยเพียงใด ในขณะที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกากำลังดำเนินมาตรการทางด้านการคลังด้วยแพคเกจขนาดใหญ่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย Laurence Boone หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโออีซีดี บอกว่า  ถ้าไม่มีการวัคซีนรวดเร็วพอ อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงว่างบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ผลตามความคาดหมาย ซึ่งหมายถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอลง

อย่างไรก็ดี โออีซีดี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัวด้วยอัตราเติบโต 5.6% ในปีนี้ และ 4.0% ในปี 2022

แต่คำถามของประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีคำตอบจากทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งผู้นำของประเทศต่างๆ ที่ชัดเจนว่า หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว โอกาสของความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อไวรัส หรือติดเชื้อไวรัสมีมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญเมื่อไหร่ ชีวิตจะได้กลับสู่ภาวะปกติเสียที โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือไม่ต้องใส่หน้ากากกันเชื้อโรค

หน่วยงาน US Centers for Disease Control and Prevention ของสหรัฐฯ ระบุว่า มีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วมีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อโควิดโดยไม่แสดงอาการ และมีโอกาสน้อยที่จะแพร่ไวรัสให้คนอื่น คนอเมริกันทั่วไปสามารถพบปะกับคนอื่นๆ ได้ในกลุ่มเล็กๆ ภายในบ้าน หรืออาคาร โดยไม่ต้องสวมใส่หน้ากาก
แต่หน่วยงาน CDC ยังมีคำเตือนว่า ประโยชน์จากการลดการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือมาตรการผ่อนคลายอื่นๆ ในการป้องกันการระบาดของไวรัสจะไม่คุ้มกับความเสี่ยงของการระบาด ผู้ที่ลังเลใจว่าควรฉีดวัคซีนหรือไม่ แต่ต้องการมีชีวิตกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ควรที่จะได้รับการฉีดวัคซีน

สรุปแล้ว ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ฉีดวัคซีนไปแล้วความเสี่ยงของการระบาดของไวรัสจะหมดไป

อังกฤษมีมาตรการที่เข้มงวดกว่าประเทศอื่นๆ แม้ว่าจะมีแคมเปญให้ฉีดวัคซีนกันทุกคน แต่มาตรการล็อคดาวน์ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่

นายแพทย์ Chris Whitty ที่ปรึกษาโรคระบาดของรัฐบาลอังกฤษ ได้ออกมาเตือนว่า สถานการณ์จะเลวร้ายลง ถ้าหากว่ามีการใช้มาตรการที่ผ่อนคลายทางสังคม

ส่วนในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์กำลังประเมินสถานการณ์ใหม่ในเรื่องการฉีดวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า หลังจากเดนมาร์กและหลายประเทศในอียูได้สั่งระงบการฉีดชั่วคราว เนื่องจากผู้ฉีดบางคนมีอาการลิ่มเลือดอุดตัน

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี ได้เลื่อนการฉีดวัคซีนในวันนี้ (12 มี.ค.) ออกไป เพื่อรอทีมแพทย์ไทยที่ให้ข้อสรุปตรงกันว่า ควรชะลอการฉีดวัคซีนโควิดของแอสตร้าเซนเนก้าออกไปก่อน เพื่อทำการตรวจสอบให้แน่ชัดถึงความปลอดภัยในการนำมาฉีดให้กับประชาชนต่อไป