โดย…ทนง ขันทอง
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของอังเคิลแซมได้สร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุนมากพอสมควร เนื่องจากว่ายังไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่รัฐบาลจะหยุดแจกเฮลิคอปเตอร์มันนี่ให้ประชาชนคนอเมริกันได้ เพราะว่ามันเหมือนยาเสพติด เสพแล้วหยุดยาก ที่สำคัญ เงินที่แจกเป็นเงินอนาคตที่รัฐบาลต้องกู้หนี้มาใช้ก่อน เมื่อมีการสร้างหนี้สูงๆ พิมพ์เงินออกมามากแทบไม่จำกัดจะทำให้เกิดความคาดหมายของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ดูเหมือนว่า เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน ธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือเฟด ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับเงินเฟ้อแต่ประการใด เพราะว่าเอาใจไปจดจ่อที่ตัวเลขการจ้างงาน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า เงินเฟ้อแม้จะสูงขึ้นไปบ้าง ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับนโยบายการเงินที่กำหนดดอกเบี้ยเฟดที่ 0% แต่อย่างใด ไม่ต้องห่วงอะไรมาก เป้าหมายของเงินเฟ้อ 2% ยังคงติดที่หน้าปากประตูทางเดินเข้าตึกที่ทำงานของเฟด
เฟดจะมีการประชุมในกลางสัปดาห์นี้ และตลาดคาดการณ์ว่า นายพาวเวลล์จะไม่เปลี่ยนท่าทีแต่ประการใดในการยืนยันที่จะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำติดดินต่อไป เพื่อที่จะช่วยประคองการจ้างงาน ขณะที่มีอัตราว่างงาน 6.2% เทียบกับ 3.5% เมื่อช่วงก่อนโควิดระบาด
กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ รายงานว่า เงินเฟ้อในเดือน ก.พ. ไต่ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.7% จาก 1.4% ก่อนหน้านั้น แต่นักลงทุนส่วนมากไม่ค่อยจะเชื่อตัวเลขเงินเฟ้อของทางการเท่าใด เพราะว่าค่าครองชีพที่เป็นจริงมันสูงขึ้นมาก เกรงว่าการใช้จ่ายที่สูงของภาครัฐ และการเพิ่มปริมาณเงินเข้าในระบบจะทำให้เกิดแรงกดดันของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจนตั้งหลักไม่ทัน
ส่วนเจเน็ต เยลเลน รมว.คลัง ซึ่งอดีตก็เคยเป็นประธานเฟดก็ออกมาให้ท้ายกับทั้งเฟด และสภาคองเกรซว่า ให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อฉุดเศรษฐกิจให้หลุดขึ้นมาจากหลุมของการหดตัวที่เกิดจากการระบาดของโควิดเมื่อปีที่แล้ว และปัญหาของโควิดยังคงคาราคาซังอยู่ ไม่ต้องกลัวเรื่องเงินเฟ้อ เพราะว่าต้องเอาเศรษฐกิจให้อยู่ก่อน
แต่นาย Jeffrey Gundlach ฉายาบอนด์คิง และผู้ก่อตั้ง DoubleLine Captial LP ได้ออกมาเตือนว่า เงินเฟ้อกำลังออกอาการร้อนแรง โดยเงินเฟ้อที่รวมหมวดอาหารและพลังงาน (headline inflation) อาจจะพุ่งไปอยู่ที่ระดับ 3% ในเดือน มิ.ย. และก.ค. นี้ หลังจากนั้นอาจจะไปถึง 4% ก็ได้ ซึ่งจะทำให้มีการเทขายในตลอดบอนด์
เขา บอกว่า เฟดรู้ว่าเงินเฟ้อกำลังจะไปในทิศทางนั้น แต่ยังฝืนบอกกับตลาดบอนด์ว่า ไม่ได้กังวลใจอะไรมากนัก แม้ว่าผลตอบแทนที่แท้จริงของดอกเบี้ยจะติดลบ (ผลตอบแทนดอกเบี้ยลบด้วยเงินเฟ้อ) เพราะว่าการสนับสนุนฐานะการคลังที่ขาดดุลของรัฐบาลมีความสำคัญกว่าจากการไฟแนนซ์ด้วยดอลลาร์ที่มีค่าที่ถูกลง
แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่มีวันผิดนัดชำระหนี้ เพราะว่าเฟดสามารถพิมพ์เงินเพื่อจ่ายหนี้ได้ตลอดเวลา แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคือ การพิมพ์ดอลลาร์เพิ่มเพื่อจ่ายหนี้ทำให้ดอลลาร์ที่มีอยู่มีค่าที่อ่อนตัวลง แม้ว่าผลตอบแทนของดอกเบี้ยตามตัวเลขจะไม่เปลี่ยน แต่เมื่อหักเงินเฟ้อแล้ว ผลตอบแทนจะติดลบ
นี่เป็นสาเหตุที่ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ได้เขียนจดหมายถึงนักลงทุนว่า นักลงทุนในตลาดบอนด์ทั่วโลกกำลังเผชิญกับอนาคตที่มืดมน