โดย…ทนง ขันทอง
ตลาดหุ้น S&P 500 กำลังไต่เพดานเพื่อสร้างสถิติใหม่ หลังจากที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า 70% ตั้งแต่วิกฤติโควิดเริ่มต้น โควิดยังไม่จบ และคนยังไม่กลับไปทำงานตามปกติ แต่ BlackRock ซึ่งบริหารทรัพย์สินมากกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังคงมีความเชื่อมั่นในตลาดหุ้น แม้ว่านักลงทุนส่วนมากเริ่มกังวลใจกับภาวะเงินเฟ้อ
ยาฮูไฟแนนซ์ รายงานว่า BlackRock ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นของสหรัฐฯ และมีมุมมองที่ก้าวข้ามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีความเห็นว่าโควิดที่สร้างแรงช็อคไปทั่วโลกเป็นจุดสตาร์ทใหม่ ไม่ใช่เป็นการฟื้นตัวของวงจรธุรกิจเหมือนที่เคยเห็นมาในอดีต
จากแง่มุมนี้ BlackRock ได้ลงทุนเพิ่มในทรัพย์สินที่ขึ้นลงตามวงจร และมีลีลาการลงทุนที่พร้อมรับความเสี่ยงในระยะ 6 ถึง 12 เดือนข้างหน้า
ความเสี่ยงที่พร้อมจะลงทุนไม่เพียงแต่หุ้นที่มีขนาดใหญ่ในตลาดหุ้น S&P 500 เท่านั้น แต่ BlackRock ระบุว่าให้ความสนใจในหุ้นขนาดเล็กที่ขยายไปมากกว่าหุ้นของบริษัทที่ไม่จดทะเบียน และเครดิตของบริษัท นอกจากนี้ BlackRock ยังเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่ โดยบอกว่าการเทขายหุ้นของตลาดเกิดใหม่เมื่อเร็วๆ นี้เป็นโอกาสที่จะเข้าไปซื้อของถูก
BlackRock มีเหตุผล 3 ประการของมุมมองการลงทุนในช่วงจังหวะเวลานี้ แม้ว่าจะไม่ใช่ฉันทามติของตลาดก็ตาม
1. สถานการณ์ในปัจจุบันไม่ใช่เป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่คุ้นเคยกันในอดีต แต่เป็นเรื่องของภัยพิบัติ โดยที่เศรษฐกิจมีการหยุดชะงักและมีการออกสตาร์ทใหม่ อันเห็นได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปี 2020 และจะทะยานต่อไปหลังจากมีการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันไวรัสไปทั่ว
2. เหตุผลต่อไปเป็นเรื่องของดีมานด์คงค้าง (pent-up demand) เศรษฐกิจที่ถูกชัตดาวน์ปีที่แล้วมีผลกระทบต่อคนอเมริกันทุกระดับรายได้ คนส่วนมากไม่ได้ใช้จ่ายเงินในด้านบริการต่างๆ เพราะเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจมีการกลับมาเปิดอีกครั้งทำให้มีความต้องการในการใช้บริการ และเกิดอุปสงค์ที่กระจายไปทั่ว นอกจากนี้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้คนอเมริกันมีรายได้เพิ่ม ทำให้การออมของครัวเรือนเพิ่ม 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ
3. ส่วนในเรื่องของเงินเฟ้อที่นักลงทุนส่วนมากเป็นกังวล เนื่องจากว่าเมื่อเศรษฐกิจและตลาดออกอาการร้อนแรง เงินเฟ้อต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าหากว่าเงินเฟ้อร้อนแรงเกินไป ธนาคารกลางจะเข้าไปดูแลเงินเฟ้อไม่ให้หลุดกรอบ ซึ่งอาจจะทำให้ราคาหุ้นลดลง แต่ BlackRock มองว่าพลวัตของเงินเฟ้อในปัจจุบันมีความแตกต่างจากในอดีต โดยมีความเห็นว่าเศรษฐกิจที่ซบเซาที่ผ่านมาเกิดจากอุปสงค์ที่ลดลง เมื่ออุปสงค์ฟื้นตัวช้าๆ กับอุปทานที่มีอยู่ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยทั่วไปจะทำให้เกิดแรงกดดันของราคาที่ลดลง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน โควิดช็อคทำให้ทั้งอุปสงค์และอุปทานลดลงพร้อมๆ กัน ตอนนี้ทั้งอุปสงค์และอุปทานต่างก็ต้องมีการฟื้นตัว
จากเหตุผลหลักที่กล่าวมา ทำให้ BlackRock มีความเห็นต่างจากสำนักอื่นๆ ที่กังวลใจกับเงินเฟ้อ และนโยบายการเงินตึงตัวที่ต้องตามมา โดยที่ยังคงเชื่อมั่น หรือมีความเห็นเชิง bullish กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่อไป